ปัญหาสเตอริโอ ลำโพงเล็ก ลำโพงใหญ่

ปัญหาสเตอริโอ ลำโพงเล็ก ลำโพงใหญ่

โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ

Q : ขาตั้งกับลำโพงเล็กมีความสำคัญอย่างไร?

A : ลำโพงเล็กชั้นดีต้องการขาตั้งที่เหมาะสม ความแข็งแรงมั่นคงนั้นแน่นอนอยู่แล้วจำเป็นเป็นอันดับแรก หากลำโพงอยู่บนฐานที่ไม่นิ่งจริง ๆ แล้ว มันก็จะไม่สามารถให้เสียงที่คมชัดได้ การสั่นไหวของไดอะแฟรมนั้นเป็นความละเอียดขนาดที่ตามองไม่เห็น หากตู้ขยับ ขาตั้งโยกเยก ก็จะทำให้ไปรบกวนการทำงานของไดอะแฟรมให้เกิดความผิดพลาด อิมเมจจะพร่ามัว ความฉับพลันจะสูญหายไป เบสส์จะไม่มีความแน่น และขาดแรงปะทะ

แต่นอกเหนือจากนั้น ขาตั้งยังทำหน้าที่ให้ความสูงกับลำโพงเล็ก หลายคนเชื่อว่าทวีตเตอร์ควรอยู่ในระดับเดียวกับหูของผู้ฟัง ความเชื่อน้สืบเนื่องมาจากทวีตเตอร์ เมื่อก่อนนี้มมุมการกระจายเสียงที่แคบมาก หากไม่สูงพอดีกับระดับหูแล้วจะไม่ได้ยินเสียงแหลมที่ชัดเจนนัก ปัจจุบันนี้ทวีตเตอร์รุ่นใหม่ ๆ มีมุมกระจายเสียงที่กว้างขึ้นมาก ไม่ต้องเอาทวีตเตอร์ไว้ที่ระดับหูโดยตรงก็สามารถให้เสียงที่ชัดเจนได้

อย่างไรก็ตามความสูงที่เหมาะสมยังเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะตรงจุดตัดแบ่งความถี่นั้น ลักษณะของการกระจายเสียงจะมีรูปแบบพิเศษ ไม่สม่ำเสมอนัก มีแนวที่เสียงโด่งขึ้นมา และแนวเสียงบอดลงไป

แทนที่จะให้ลักษณะการกระจายเสียงที่มีความดังสม่ำเสมอออกมาเป็นวงกลมรอบตัว ที่จุดตัดแบ่งความถี่นั้นมีเสียงออกมาทั้งจากทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์พร้อม ๆ กันจากตำแหน่งที่ต่างกัน ประกอบกับวงจรตัดแบ่งความถี่จะทำให้ทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์มีความแตกต่างทางเฟสกันอีก ทำให้ผลรวมของเสียงมีทั้งเสริมกันและหักล้างกัน อาจเสริมกันจนโด่งขึ้นมาและหักล้างกันจนหายไป

เมื่อมุมกระจายเสียงไม่สม่ำเสมอ ความสูงของลำโพงเมื่อเทียบกับหูจึงมีความสำคัญมาก อาจทำให้แนวที่มีการตอบสนองที่โด่งหรือบอดมาเล็งเข้าสู่ผู้ฟังได้(เรื่องของลักษณะการกระจายเสียงในแนวดิ่ง ณ จุดตัดแบ่งความถี่นี้มีความสำคัญมากในการออกแบบลำโพงและมีรายละเอียดมากที่ผมไม่สามารถจะเขียนให้ท่านเข้าใจได้ในโอกาสนี้ เพราะจะเป็นเรื่องยาวและต้องใช้พื้นฐานทางการคำนวณไม่น้อยเลย ขอข้ามไปก่อนนะครับตรงนี้)

ที่จริงแล้วเพียงแค่ผลรวาในแง่ปริมาณแล้วยังไม่พอครับ สัญญาณฉับพลันต้องการจังหวะที่ถุกต้องของการผสมกันระหว่างเสียงจากวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ หากมาไม่ถูกจังหวะแล้วจะไม่สามารถให้คุณภาพของความสด ความกระฉับกระเฉงได้เลย

ท่านที่เคยใช้ลำโพงเล็กมาบ้างคงเคยพบผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ขาตั้งที่มีความสูงไม่เกมาะสมมาแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องเอาทวีตเตอร์ไว้ระดับหูเท่านั้นนะครับ ควรใช้ความสูงตามที่ผู้ผลิตเขาแนะนำไว้ อย่างเช่น Spica TC50 เขาออกแบบมาให้วางไว้สูงขนาดที่กึ่งกลางวูฟเฟอร์จะอยู่เสมอกับระดับหู หากอยู่สูงเกินไปจะให้เสียงที่เนือย ขาดชีวิตชีวา หากอยู่ต่ำเกินไปจะให้เสียงกลางที่ขาดความชัดเจน ถูกเบสและเสียงแหลมกลบ ลำโพงขนาดกลาง ๆ ก็ต้องการขาตั้งเช่นกัน และต้องการความเหมาะสมของความสูงไม่น้อยไปกว่าความแข็งแรงมั่นคงเช่นกัน

 

Q : ทำไมลำโพงใหญ่ต้องมีสไปค์จิกพื้น?

A : ลำโพงใหญ่ไม่ต้องการขาตั้ง วางบนพื้นได้เลย ก็มีข้อควรพิจารณาเช่นกัน หลักการสำคัญก็คือต้องให้มันตั้งได้นิ่ง ๆ มั่นคง ไม่กระดกกระเดก ไม่โยกเยก หากใช้พรมปูห้อง พรมนั้นอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงได้ อาจมีการยุบตัว มีการลื่นทำให้ลำโพงไม่อยู่นิ่ง วิธีแก้ที่รู้ ๆ กันอยู่คือ ใช้ลำโพงที่มีเดือยแหลมคล้ายตะปูจิกทะลุพรมลงไปยังพื้นผิวแข็งด้านล่าง ต้องยอมให้พรมทะลุครับ ไม่อย่างนั้นไม่ได้ผลแน่ ต้องให้ตั้งลำโพงได้นิ่งจริง ๆ อย่าคิดว่าจะเอาตัวรองรับราคาแพง ๆ มาช่วยได้นะครับ หากวางอยู่บนพรม อย่างเช่นวางลำโพงบนกรวยแหลมประเภท Tip Toe หรืออะไรทำนองนั้น ไม่ว่าจะวางแบบเอาปลายแหลมตั้งขึ้นหรือปักลงก็ตาม หากอยู่บนพรมมันก็จะไม่มีประสิทธิภาพอะไร เพราะมันจะขยับไปกับพรมได้ ไม่สามารถทำให้ลำโพงอยู่นิ่งได้ ไม่ว่ามันจะทำมาจากวัสดุอะไรก็ไม่สามารถทำงานได้ทั้งนั้น ของพวกนี้มันของใช้งานไม่ใช่ของขลัง เพียงแต่ว่าต้องรู้จักใช้ครับ รู้ว่ามันมีหน้าที่พื้นฐานอย่างไร ทำงานอย่างไร

ลองคิดดูนะครบ หากวางกรวยแหลมแบบตั้งขึ้นฐานวางอยู่บนพรม เจ้ากรวยแหลมนี้จะขยับไปมาได้ง่าย ๆ เมื่อมีแรงผลักมาจากลำโพง เนื่องจากไม่มีความฝืดเพียงพอที่จะต้านไว้ รวมทั้งขนพรมเองก็จะเอนลู่ไปได้ตามทิศทางของแรงผลัก หากวางกรวยแหลมปักลงบนพรมหนา ๆ ปลายของกรวยแหลมนี่ก็มักจะไม่สามารถผ่านพ้นขอบพรมจนลงไปถึงด้านล้างที่มีความมั่นคงพอที่จะยึดได้ แรงผลักในจังหวะที่มีเบสลึก ๆ นี่ไม่น้อยนะครับ เมื่อลำโพงไม่สามารถตั้งอยู่ได้นิ่ง ๆ มันก็ไม่สามารถให้แรงปะทะออกมาได้ ก็เหมือนกับที่ท่านต้องยืนอยู่บนพื้นที่มั่นคง จึงจะสามารถขว้างของหนัก ๆ ออกไปได้ ต่อให้เป็น เดวิด เบ็คแฮม ก็เถอะ หากเตะลูกโทษบนสนามขี้โคลนเละ ๆ ก็ไม่มีทางที่จะได้ความแม่นยำหรอกครับ

วิธีแก้ที่ผมใช้คือทำแท่นเตี้ย ๆ แบน ๆ แต่แข็งแรง มีน้ำหนัก มีการเก็บการสั่นสะเทือนที่ดี ด้านบนเรียบด้านล่างมีเดือยแหลมที่ยาวพอจะทะลุพรม และใหญ่พอที่จะให้ความแข็งแรง แท่นนี้จะมีขนาดประมาณหกสิบคุณหกสิบเซ็นติเมตร เอาลำโพงวางบนแท่นนี้ละครับ ที่นี้ก็จะขยับลำโพงได้สะดวกหละ ใช้ตัวรองรับลำโพงประเภทกรวยปลายแหลมหรือ Tip Toe อะไรทำนองนั้นก็ได้ วางไว้บนแท่นนี้อีกทีหนึ่ง

Q : สมรรถนะด้านอิมเมจของลำโพงเล็กและลำโพงใหญ่ใครดีกว่ากัน?

A : ลำโพงที่ดีในชุดเครื่องเสียงที่ดีจะสามารถให้เสียงที่เหมือนกับว่าไม่ได้ออกมาจากลำโพงโดยตรงแต่ออกมาจากบริเวณรอบ ๆ ลำโพง มีบางส่วนอยู่ข้างหลัง บางส่วนอยุ่ข้าง ๆ พ้นเลยขอบของตู้ลำโพงไปจนถึงผนังห้อง และบางส่วนอาจอยู่ค่อนมาข้างหน้าของตู้ลำโพง มีความเป็นบริเวณเป็นกลุ่มเป็นก้อน บริเวณนี้ล่ะครับที่เรียกว่า Sound Stage บางครั้งมันอาจจะมีความลึกจนหาจุดไม่ได้ อาจมีความกว้างจนเสมือนกับว่าเลยผนังด้านข้างออกไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสัญยาณที่เราป้อนเข้าไปด้วย

เสียงแต่ละเสียงที่อยู่ในซาวนด์สเตจ จะมีตำแหน่งของมัน แยกย้ายกันอยู่ คล้าย ๆ กับมีตัวตน มีต้นกำเนิดเสียงในอากาศที่เรามองไม่เห็นตัวตน ที่มองไม่เห็นนี่เองที่เราเรียกว่า Sound Image หรือ Stereo Image เพราะสร้างขึ้นมาจากสัญญาณในระบบสเตอริโอ แม้ทั้งสองคำนี้จะเกี่ยวพันกันแต่ต้องแยกกันว่าคนละประเด็น

ในเรื่องของอิมเมจนี้อาจถือได้ว่าเป็นทีเด็ดของลำโพงเล็กที่เอาไว้กำหราบลำโพงใหญ่ ๆ ให้อยู่มือ ลำโพงเล็กอาจจะให้คุณภาพทางด้านอิมเมจนี้ในระดับสุดยอด หรือที่เรียกว่า Image to die for ซึ่งจะว่าเป็นไทย ๆ ก็ได้คือ อิมเมจที่รักยิ่งชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิมเมจของเสียงร้องลำโพงเล็กบางรุ่นสามารถให้อิมเมจของเสียงร้องได้ประหนึ่งว่า มีคนมาร้องอยู่ในห้องฟังของเรา เป็นจริงเป็นจังคล้ายกับว่าจะจับต้องได้ ชวนเคลิบเคลิ้มหลงใหลเสียนี่กระไร

ผู้สัดทัดกรณีเขาว่า การที่ลำโพงเล็กสามารถให้อิมเมจของเสียงร้องได้ดี เพราะขนาดของตู้นั้นใกล้เคียงกับขนาดศีรษะมนุษย์ และวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์มีขนาดใกล้เคียงกับปาก ทำให้การกระจายเสียงมีลักษณะคล้ายเสียงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติจากปากมนุษย์ เสียงกระจายออกไปรอบๆตัวไม่ถูกกีดขวางไว้ด้วยแผงหน้าของตู้
เกี่ยวกันกับแง่นี้มีอีกเรื่องหนึ่งคือ ตู้ลำโพงนั้นง่ายที่จะทำให้มีความแข็งแรงมาก ๆ ไม่มีการกระพือของผนังตู้ ทำให้ตัวตู้นั้นเงียบอย่างแท้จริง ช่วยให้มันหายตัวไปได้ในซาวนด์สเตจ

ตู้ลำโพงใหญ่นั้นยากที่จะทำให้แข็งแรง มักจะมีการกระพือของผนังตู้ซึ่งเกิดจากแรงอัดอากาศภายในตู้ลำโพง อันเนื่องมาจากการกระทำของวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความถี่ต่ำ ๆ เมื่อผนังกระพือมันก็จะส่งเสียงออกไปเสมือนว่ามันเป็นไดอะแฟรมของลำโพงและเป็นไดอะแฟรมที่มีขนาดใหญ่มากด้วย เกิดเป็นเสียงของตู้เป็นลักษณะเสียงทึบ ๆ ฟ้องตำแหน่งของตู้ลำโพงอย่างชัดเจนและมีการรบกวนต่อเสียงตามสัญญาณที่ควรมี นอกจากจะให้เสียบทึบไม่น่าฟังแล้ว ยังทำให้อิมเมจและซาวนด์สเตจถูกรบกวนอย่างแรง จนไม่สามารถก่อตัวขึ้นได้

Q : ความแตกต่างของสมรรถนะด้านซาวนดืสเตจระหว่างลำโพงเล็กและลำโพงใหญ่เป็นอย่างไร?

A : ส่วนในเรื่องของซาวนด์สเตจนั้น ลำโพงเล็กจะให้ซาวนด์สเตจที่เล็กกว่า ทั้งนี้เพราะเบสที่ลงไปไม่ลึกนักไม่สามารถก่อตัวของบรรยากาศใหญ่ได้ แต่ซาวนด์สเตจที่มีขนาดเล็กนั้นอาจมีสัดส่วนที่ดีเหมาะสมแต่ย่อส่วนลงอย่างถูกต้องก็ได้ ในขณะที่ลำโพงใหญ่สามารถจะให้ขนาดของซาวนด์สเตจที่ใหญ่กว่าทั้งความกว้างและความลึก พร้อมทั้งความใหญ่ของบรรยากาศจำลอง Concert Hall มา แต่ลำโพงใหญ่หลายรุ่นไม่สามารถจะรักษาสัดส่วนที่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ก็เพราะยิ่งเปิดหน้าต่างให้กว้าง อะไรต่ออะไรเข้ามามากก็ควบคุมได้ยากกว่าเป็นธรรมดา

โดยสรุปแล้วในเรื่องของซาวนด์สเตจนี้มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบพอฟัดกันได้ระหว่างลำโพงเล็กและลำโพงใหญ่ ต้องดูเป็นเฉพาะกรณีครับ ตัวอย่างเช่น ลำโพงใหญ่ของอเมริกันมักให้ดุลย์ของน้ำเสียงไปทางเบส ทำให้ซาวนด์สเตจใหญ่โตกว่าที่ควรในช่วงของเบส แต่ลีบเล็กลงในช่วงกลาง ๆ คล้าย ๆ กับว่าขนาดของเครื่องดนตรีที่ให้เสียงในย่ายเบสจะมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องดนตรีอื่น ๆ เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว ในขณะที่ลำโพงเล็กอาจมีดุลย์ของน้ำเสียงค่อนมาทางกลางแหลมจึงอาจมีซาวนด์สเตจที่เล็กบอบบาง

ในความเห็นของผมนั้น สัดส่วนของซาวนด์สเตจมีความสำคัญกว่าขนาดโดยรวม ผมตะมีความพอใจกับซาวนด์สเตจที่มีสัดส่วนความกว้าง ความลึก ความสูง ที่พอเหมาะพอสมเป็นการย่อของจริงมาในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันในทุก ๆ ด้าน เล็กลงเท่าไรก็เล็กลงมาด้วย สามารถสร้างซาวดน์สเตจขนาดเท่าของจริง การแสดงจริงขึ้นมาในบ้านในห้องฟังของเรา เมื่อจำเป็นต้องย่อลงมาก็ต้องทำสัดส่วนให้ถูกต้องสมส่วนสมทรง

ความใหญ่ของซาวนด์สเตจแต่ผิดส่วน จึงถือเป็นความผิดเพี้ยนอย่างหนึ่งอันไม่พึงปรารถนาสำหรับผม

ดังนั้นลำโพงใหญ่จึงอาจไม่ได้เปรียบเหนือลำโพงเล็กเสมอไปในแง่ของซาวนด์สเตจที่ใหญ่โตกว่า แต่โอกาสที่ผิดสัดส่วนก็มีมากเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าลำโพงเล็กจะให้ซาวนด์สเตจที่มีสัดส่วนที่ดีกว่าเสมอไปนะครับ เพียงแต่อยากจะยืนยันว่าขนาดใหญ่โตไม่สำคัญเท่าสัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

ยังมีอีกแง่หนึ่งที่ต้องกล่าวถืงคือ ความสามารถในการเลี้ยงซาวนด์สเตจให้คงรูปไว้ ในขณะที่ความดังเปลี่ยนไป ในกรณีนี้ลำโพงใหญ่ได้เปรียบครับ ลำโพงใหญ่มักจะเลี้ยงซาวนด์สเตจไว้ให้คงสภาพเดิมได้แม้ความดังจะเปลี่ยนไป ทั้งนี้เกี่ยวพันมาจากการที่ลำโพงใหญ่มีการเผื่อเหลือเผื่อขาดในการรับกำลังด้วย ทำให้ดุลย์ของย้ำเสียงไม่เปลี่ยน จึงสามารถรักษาซาวนด์สเตจไว้ได้อย่างเดิม

ลำโพงเล็กมีข้อจำกัดมากกว่า เมื่อเล่นดังมากขึ้นเสียงความถี่ต่ำ ๆ จะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เท่ากับเสียงกลาง ๆ ทำให้ซาวนด์สเตจเปลี่ยนไปด้วย ช่วงเสียงกลางอาจจะล้ำหน้าได้
ที่จริงแล้วในเรื่องนี้คุณภาพของแอมปลิฟายเออร์ก็มีส่วน ลำโพงเล็กที่ดีบางตัวอาจจะเลี้ยงซาวนด์สเตจให้คงรูปอยู่ได้จนถึงขีดจำกัดของแอมปลิฟายเออร์ก่อนก็ได้ หากแอมปลิฟายเออร์นั้นคุณภาพไม่ถึง หลายคนมาโยนความผิดนี้ให้ลำโพงเล็กอย่างไม่ยุติธรรม ลำโพงเล็กที่ดีนั้นจะยิ่งแสดงสมรรถนะที่สุดยอดออกมาเมื่อเล่นกับแอมปลิฟายเออร์ที่ดีจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอมปลิฟายเออร์กำลังมากหรือกำลังน้อยก็ตาม

Q : การชดเชยข้อด้อยของลำโพงเล็กด้วยแอมป์ทำได้หรือไม่

A : ในบ้านเรามีผู้สันทัดกรณีหลายราย ที่สามารถจับคู่ลำโพงเล็กับแอมปลิฟายเออร์ได้อย่างน่าทึ่ง ในลักษณะที่เอาข้อด้อยมาชดเชยกัน ไม่ใช่ว่าจะทำให้เกิดข้อดีใหม่ขึ้นมา แต่ทำให้ข้อด้อยที่มีถูกกลบเกลื่อนไปได้พอสมควร ความจริงไม่น่าจะเรียกว่าชดเชย เรียกว่ากลบเกลื่อนจะถูกต้องกว่านะครับ

ยกตัวอย่างเช่นมีลำโพงเล็ก ๆ ที่ค่อนข้างจะมีปัญหาทางด้านเบสและเสียงแหลม เอาเป็นว่าทางเบสนั้นลงไปได้ไม่ลึก และมีอาการบวม ๆ ก้อง ๆ เกินควร ส่วนทางเสียงแหลมนั้น ออกอาการด้วน ๆ ไม่ชัดเจนแจ่มใสนัก ไม่มีประกายอะไรทำนองนั้น ผู้สันทัดกรณีเขาก็จะหาแอมปลิฟายเออร์ที่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงนักในช่วงเบส แต่ทางด้านเสียงแหลมยกในช่วงแหลมกลาง ๆ ขึ้นมา ไม่ต้องมีตอนปลาย ๆ อะไร แล้วเปิดเล่นกับเพลงที่เด่นในช่วงเสียงกลาง พวกเพลงร้องที่ใช้เครื่องดนตรีไม่มากชิ้นอะไรทำนองนี้ก็พอจะให้เสียงที่น่าฟังได้ เพราะเป็นการจำกัดช่วงการทำงานของลำโพงนั้นไว้ไม่ให้ข้อเสียปรากฏออกมา ฟังเผิน ๆ แล้วดีได้เหมือนกัน เพื่อนฝูงที่นาน ๆ มาฟังทีอาจจะทึ่งได้ แต่ถ้าฟังกันนาน ๆ แล้วก็จะรู้ข้อจำกัดนี้ครับ เพราะไม่มีใครที่จะฟังแต่เพลงร้อง และเมื่อไรที่ไปได้ยินเครื่องเสียงที่ครบเครื่องมากกว่าทั้งเบสและแหลมแล้ว จะพบว่าชุดที่ชดเชยไว้นั้นทำได้แค่ ความชั่วไม่ค่อยมี ความดีค่อยไม่ปรากฏเท่านั้นเอง อย่างนี้ท่านต้องระวังไว้เหมือนกัน ในกรณีที่ท่านไปฟังเครื่องตามร้านทั้งหลาย

แต่ในกรณีที่ท่านเป็นเจ้าของลำโพงคู่หนึ่งที่รักนักหนาตรงช่วงเสียงกลาง เผอิญว่าลำโพงคู่นั้นออกจะไม่ค่อยเก่งเรื่องของเบสและแหลม อย่างนี้ไม่ต้องไปหาแอมปลิฟายเออร์ที่เก่งทางเบสและแหลมมาดชดเชยนะครับ เพราะมันอาจทำให้ข้อด้อยถูกเปิดเผยออกมาจนแจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปหมด ต้องใช้วิธีในทำนองเดียวกับผู้สันทัดกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้แหละมาจับคู่กัน อย่าไปบังคับให้ลำโพงสุดที่รักของท่านต้องทำสิ่งที่มันไม่ถนัดเลย

สรุปแล้วก็คือข้อบกพร่องเอาอะไรมาชดเชยกันไม่ได้ครับ แต่ข้อดีส่งเสริมกันได้ก็คล้ายชีวิตคนนี่แหละ

ปัญหาสเตอริโอ ลำโพงเล็ก ลำโพงใหญ่
โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ