อ่านเอาเรื่อง หน้าต่างที่เปิดกว้าง(ซับวูฟเฟอร์)

อ่านเอาเรื่อง หน้าต่างที่เปิดกว้าง(ซับวูฟเฟอร์)

โดย นภดล บุญบันดาล นิตยสารสเตอริโอ

หน้าต่างยิ่งกว้างเรายิ่งเห็นภาพได้กว้าง หน้าต่างยิ่งใสเรายิ่งเห็นภาพได้ชัดเจนถูกต้อง เราอาจจะได้เห็นทั้งสิ่งที่ต้องการเห็นและสิ่งที่ไม่ต้องการ บางคนพอใจหน้าต่างแคบ ๆ และติดฟิล์มบังแสงไว้เพราะไม่พร้อมจะรับภาพที่แท้จริง ส่วนผู้ที่รักความจริงย่อมได้รับประโยชน์จากหน้าต่างที่กว้างและใสสว่าง เปิดให้กว้างทำให้ใสเท่าที่จะทำได้แล้วสัมผัสกับภาพที่ได้เห็นให้เต็มที่

ลำโพงเปรียบเสมือนหน้าต่างบานสุดท้ายของระบบเครื่องเสียงที่เปิดออกให้เราได้สัมผัสกับเสียงดนตรี ในฉบับนี้เรามาคุยกันถึงส่วนล่างของหน้าต่างที่ไม่ค่อยได้ถูกเปิดออก เปิดแล้วจะพบช่วงความถี่ต่ำ ๆ ที่หลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคย

หน้าต่างส่วนล่างนี้เป็นหน้าต่างพิเศษที่ทั้งหนา และหนักเปิดออกยากและต้องดูแลด้วยความระมัดระวัง แต่เมื่อจัดการได้แล้วก็เหมือนว่ามันได้เปิดมิติใหม่ให้เราได้เห็นสิ่งที่เคยอยู่ในความคลุมเครือ หน้าต่างบานนี้คือซับวูฟเฟอร์นั่นเอง

ภาพที่เราได้เห็นจากหน้าต่างที่ว่านั้นก็คือเสียงดนตรีที่ลำโพงสร้างขึ้นมา เป็นเสียงดนตรีทั้งหมดตามที่นักดนตรีทั้งวงเขาเล่นรวมทั้งเสียงของบรรยากาศรอบ ๆ และเสียงทั้งหมดตามบทตามตอนของภาพยนต์ตั้งแต่เสียงพูดเสียงคุย เสียงกระซิบไปจนถึงซาวนด์เอฟเฟ็คท์ทั้งหลาย ลำโพงต้องรับภาระหนักมากเหลือเกินลำโพงอะไรจะทำได้ขนาดนั้น สร้างเสียงของวงดนตรีทั้งวง สร้างเสียงของสถานะการณ์ทั้งหลายเมื่อเล่นโฮมเธียเตอร์

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือย่านเสียงกลาง หน้าที่หลักของลำโพงทั้งหลายคือต้องสร้างเสียงย่านกลาง ๆ ให้ดีเป็นอันดับแรก คุณภาพอาจยิ่งหย่อนกว่ากันบ้างในคุณภาพระดับที่สุดของที่สุด ความถี่ย่านบนสุดและล่างสุดจำยอมว่ามีข้อจำกัดทำดีเท่าที่ทำได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำโพงสองทางหรือใช้ไดรเวอร์เพียงสองตัวเพื่อสร้างเสียงทั้งย่าน วูฟเฟอร์ต้องรับผิดชอบตั้งแต่ราว ๆ 2000 Hz ลงมาถึงช่วงต่ำสุด ในการออกแบบต้องมีการประนีประนอมละทิ้งเบสต่ำ ๆ ไปเพื่อเอาเบสบน ๆ และเสียงกลางไว้ ถึงแม้จะเป็นลำโพงสามทางวูฟเฟอร์ก็ยังต้องทำงานในช่วงความถี่กว้างมากอยู่ดี ถ้าหากให้มันเอาดีในด้านความถี่ต่ำมาก ๆ ตั้งแต่ 20 Hz เป็นต้นไปพร้อมกับเบสย่านกลางและสูงขึ้นไปถึงจุดตัดแบ่งความถี่ซึ่งมักจะเป็นราว ๆ 500-800 Hz ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เราต้องใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ในตู้ขนาดใหญ่เพื่อสร้างความถี่ต่ำที่สมบูรณ์แบบ พร้อมกับแอมปลิฟายเออร์กำลังมหาศาล เพื่อคุมมันให้อยู่หมัดเพื่อสร้างเสียงที่สั่นฟ้าสะเทือนดิน สำหรับเสียงคนและเสียงดนตรีทั่วไป เราต้องการไดรเวอร์ขนาดเล็กลงมา เพื่อสร้างเสียงอันคุ้นเคยที่สุดของเรานั่นคือเสียงคนและเสียงดนตรีทั่วไป และไดรเวอร์ขนาดเล็ก ๆ เพื่อให้มันสามารถตอบสนองเสียงความถี่สูง และมีมุมกระจายเสียงที่กว้างพอเพื่อสร้างเสียงกริ๊งงงง.. ที่ละเอียดบอบบางพร้อมด้วยความกังวานพริ้ว

จึงได้มีแนวคิดที่จะยกภารกิจด้านเบสต่ำ ๆ ให้กับผู้ที่ถนัดทางด้านนี้โดยเฉพาะ….นั่นคือซับวูฟเฟอร์

ซับวูฟเฟอร์โดยชื่อของมันหมายถึงว่าต่ำกว่าวูฟเฟอร์ หรือวูฟเฟอร์ตัวต่ำ มีหน้าที่หลักในช่วงความถี่ต่ำโดยเฉพาะต่ำกว่าวูฟเฟอร์ปกติ ตั้งแต่ความถี่ราว ๆ 150 Hz ลงมาจนถึงความถี่ต่ำสุดเท่าที่มันจะทำได้ อาจจะต่ำกว่า 20 Hz ซึ่งถือว่าเป็นความถี่ต่ำสุดของย่านความถี่เสียงปกติ การออกแบบซับวูฟเฟอร์ต้องผ่านกระบวนการคิดที่มีความพิเศษต่างจากลำโพงทั่วไป และในทำนองเดียวกันการใช้ซับวูฟเฟอร์ก็ต้องมีกระบวนการพิจารณาที่แตกต่างจากลำโพงทั่วไป

ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับซับวูฟเฟอร์มาหลายบทความแล้ว แต่รู้สึกว่ายังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากให้เขียนได้อีก จากประสบการณ์ที่ได้ออกแบบและใช้งานมันในห้องต่าง ๆ ในชุดต่าง ๆ ก็ได้เห็นมันในแง่มุมต่าง ๆ ในฉบับนี้ส่วนมากจะเป็นประเด็นของการใช้งานครับ อาจจะวกไปถึงเรื่องการออกแบบบ้างเท่าที่จำเป็น

เรามาเข้าสู่เรื่องของการใช้งานซับวูฟเฟอร์กัน หน้าที่ของซับวูฟเฟอร์ก็คือช่วยให้ระบบตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้อีก มันเป็นตัวเสริมเข้ากับชุดหลักครับไม่สามารถใช้ได้แต่ลำพัง หากใครอยากลองฟังเสียงของซับวูฟเฟอร์แบบไม่ผสมโซดาก็ลองได้เลย ปิดเสียงเข้าลำโพงหลักเท่านั้นเองท่านก็จะได้ฟังเสียงอืด ๆ อือ ๆ ถึด ๆ ทือ ๆ ไปตามเรื่อง ไม่ได้เป็นเพลงอะไร หากท่านไม่ได้ใช้ซับวูฟเฟอร์อยู่คงต้องไปลองฟังที่ร้านขายก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

สิ่งที่ได้จากซับวูฟเฟอร์

เหตุผลที่ท่านอธิบายกับตนเองและครอบครัวในการที่จะเสริมซับวูฟเฟอร์เข้าไปในระบบอาจจะแตกต่างกัน โดยมากมาจากความต้องการดังนี้

1 ลงไปให้ถึงเบสที่ลึกกว่าที่ลำโพงปัจจุบันทำได้ด้วยการใช้ลำโพงที่ออกแบบมาสำหรับการทำงานในช่วงความถี่ต่ำโดยเฉพาะ

2 ได้เบสที่เล่นได้ดังขึ้นกว่าเดิมฟังได้เต็มอิ่มสะใจขึ้นเพราะมีพื้นที่ผลักอากาศมากขึ้นและแยกใช้แอมปลิฟายเออร์มาเสริมกำลัง

3 เพิ่มไดนามิคเรนจ์ของระบบ ลำโพงคู่หลักเป็นอิสระจากความถี่ต่ำๆช่วยให้มันสามารถเล่นได้ดังขึ้นโดยมีความเพี้ยนลดลงมีความชัดเจนรายละเอียดครบถ้วน

4 ปรับปรุงคุณภาพของเบสและย่านเสียงกลางต่ำ แยกตัวขับแยกหน้าที่กันทำงานช่วยให้ลำโพงทำงานได้ง่ายขึ้น จำแนกแยกแยะท่วงทำนองเบสได้ชัดเจน มีทั้งน้ำหนักและจังหวะแน่นเปรี๊ยะ

5 เอาอย่างเพื่อนนักเล่นชั้นเซียน เขาบอกว่าใช้แล้วมันนน…ก็อยากใช้บ้าง

6 ใช้กับโฮมเธียเตอร์แล้วให้ความรู้สึกกระหึ่มคล้ายกับได้ไปดูในโรงภาพยนต์ชั้นดี

7 อื่น ๆ

ซับวูฟเฟอร์ที่ดีเป็นของหายากครับ คนโดยมากคาดหวังไปก่อนโดยที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เหมือนกับนึกเรื่องราวต่อไปเองจากข้อมูลจากข่าวที่ได้ยินเขาว่ามา อาจเข้าทำนองตาบอดคลำช้างก็มี ซับวูฟเฟอร์ที่ดีเป็นลำโพงผู้มีความชำนาญเฉพาะกิจครับ ทำเสียงอะไรไม่เป็นให้แต่เสียงความถี่ต่ำ ๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นแหละครับ ที่เป็นการช่วยให้ลำโพงหลักของเราไม่ต้องรับภาระกรรมที่หนักหนาเกินไป และเสริมสิ่งที่เป็นขีดจำกัดเดิมด้วยเบสลึก ๆ

เมื่อชุดเครื่องเสียงมีเบสลึกแล้วสิ่งที่ท่านจะได้รับคือประสบการณ์อันพิเศษด้วยความยิ่งใหญ่สมจริง ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความเร้าใจไม่ว่าจะฟังกับโฮมเธียเตอร์หรือดนตรี บรรยากาศของบริเวณที่อยู่เบื้องหลังเสียงดนตรี สาธยายอย่างไรก็ไม่ทำให้ท่านเห็นตามได้จริงครับ ต้องนึกถึงประสพการณ์ของท่านเองจากที่เคยได้ยินในโรงภาพยนต์ดี ๆ หรือจากที่ได้ฟังดนตรีจริง หากไม่เคยเลยก็ยากที่จะนึกออก

ในทางอุดมคติเมื่อใช้ซับวูฟเฟอร์แบบเต็มสูตรนั่นคือ มีแอคตีฟครอสส์โอเวอร์แบ่งสัญญาณทั้ง Hi-pass และ Low-pass มีแอมปลิฟายเออร์มาขับซับวูฟเฟอร์โดยเฉพาะ และตัดแบ่งความถี่ได้เหมาะสม ปรับความไวให้สมดุลกัน ก็จะช่วยไดนามิคเรนจ์ของระบบสูงขึ้นหรือมีช่วงกว้างความดังที่เพิ่มขึ้น ช่วงการตอบสนองความถี่กว้างขึ้น ลำโพงหลักเล่นได้ดังขึ้นพร้อมด้วยความชัดเจนที่ดีขึ้น รายละเอียดดีขึ้น อิมเมจและซาวนด์สเตจชัดแจ่มใสมีความกว้างและลึกเพิ่มขึ้น เบสแน่นอนว่าต้องดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ

ซับวูฟเฟอร์ที่มีขายกันโดยมากทำได้แค่เพิ่มปริมาณของเบส ไม่สามารถเสริมคุณภาพของเบสได้จริง ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตโดยมากทำตามความต้องการของตลาดของผู้บริโภค โทษใครดีเล่าครับ โทษบริษัทผู้ผลิตหรือผู้บริโภค นักเล่นโดยมากใฝ่ฝันถึงเบสลึก ๆ ในขณะที่ต้องการตู้ซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก ๆ มันเป็นความต้องการที่ขัดกันเอง เป็นการฝืนธรรมชาติฝืนหลักการทางฟิสิกส์ เป็นการเห็นความสำคัญของ Form มากกว่า Function

ผู้บริโภคที่มีปัญญาต้องยอมรับความจริงครับ อยากได้เบสลึก ๆ และมีพลังพอสมควรจำเป็นต้องเลือกซับวูฟเฟอร์ที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่พอสมควรในตู้ที่ใหญ่สมตัว และใช้แอมปลิฟายเออร์ที่มีกำลังพอเพียง

ท่านต้องมองหาซับวูฟเฟอร์ที่มีการออกแบบโดยไม่ฝืนธรรมชาติไม่ฝืนหลักการทางฟิสิกส์ ไม่ฝืนให้ซับวูฟเฟอร์ทำงานหนักเกินตัว ซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กจะเสริมสมรรถนะให้กับลำโพงหลักขนาดเล็ก เบสอาจะมีขีดจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่มันก็เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบที่มันได้รับการออกแบบมา คือใช้ในระดับความดังที่พอสมควรกับห้องขนาดย่อม ๆ

ความแตกต่างระหว่างซับวูฟเฟอร์สำหรับใช้กับโฮมเธียเตอร์และซับวูฟเฟอร์สำหรับการฟังดนตรี

บางท่านคิดว่าระบบเสียงสำหรับโฮมเธียเตอร์กับชุดเครื่องเสียงนั้นต่างกัน ผู้ที่รักโฮมเธียเตอร์หลายท่านจะไม่สนใจฟังดนตรีจริงจังนัก หากจะฟังก็ฟังจากแผ่นที่บันทึกการแสดงคอนเสิร์ต แรก ๆ ก็เน้นให้ฟังสนุก แล้วเมื่อเล่นแผ่นดี ๆ มากขึ้นก็จะพัฒนาระบบให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ขุดลึกลงไปถึงเสียงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแผ่น สร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์

ส่วนท่านที่สนใจแต่ดนตรีล้วน ๆ มักจะคิดว่าดูภาพยนต์สักเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลานานเกินไป และต้องดูต่อเนื่องจึงไม่คิดว่าคุณภาพเสียงในโฮมเธียเตอร์มีความสำคัญนัก พัฒนาเครื่องเสียงให้ได้อิมเมจและซาวนด์สเตจที่ชัดเจน ให้วงดนตรีล่องหนจากเสียงโดยไม่ต้องมีภาพ ให้บรรยากาศเหมือนเราได้สัมผัสได้เห็นการแสดงดนตรีนั้น

ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนเมื่อพัฒนาคุณภาพเสียงไปให้สุดยอดแล้วก็จะต้องการให้มีรายละเอียดชัดเจน ให้ความสมจริง ไป ๆ มา ๆ ก็จะคล้าย ๆ กันในที่สุด คล้ายกับทุกท่านมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แต่เส้นทางที่ไปนั้นแล้วแต่จะเลือกในตอนแรกแยกย้ายกันไป สักพักก็มาเจอกันอีกที่ปลายทาง

ประเด็นของซับวูฟเฟอร์ก็เป็นในทำนองเดียวกัน โดยปัจจัยพื้นฐานแล้วซับวูฟเฟอร์สำหรับการใช้งานในแบบไหน ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นเอง แต่ในใจของคนทั้งหลายเห็นว่ามีความแตกต่างกัน สำหรับผู้มีใจรักในโฮมเธียเตอร์ส่วนมากมีความต้องการดังนี้

ให้เล่นได้ดังเพียงพอด้วยความเพี้ยนต่ำและลงไปได้ถึงช่วง 30-35 Hz สำหรับคนที่เอาจริงสักหน่อยอาจต้องการให้ตอบสนองได้เต็มกำลังลงไปถึง 20 Hz ซับวูฟเฟอร์ทั้งหลายที่มีคุณสมบัติได้ความต้องการนี้ เหมือนจะให้เสียงที่ยอมรับได้หากไม่ถึงกับว่ายอดเยี่ยมสำหรับโฮมเธียเตอร์

สำหรับผู้มีใจรักดนตรีล้วน ๆ จะต้องการความชัดเจนของโน้ตเบส เน้นความราบเรียบและต่อเนื่องอาจจะไม่เน้นความสามารถในการเล่นดัง ๆ นัก โดยส่วนมากจะคิดกันว่าซับวูฟเฟอร์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่างกับระบบโฮมเธียเตอร์ ซึ่งซับวูฟเฟอร์เหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีไว้ก่อน ดีแค่ไหนค่อยมาว่ากันทีหลัง

ตรงความจำเป็นนี้ละครับที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ซับวูฟเฟอร์ในระบบเครื่องเสียงสำหรับดนตรีล้วน ๆ มักจะมีอยู่ในชุดที่ต้องการความสุดยอด อาจจะมีบ้างที่ใช้ในชุดของมือใหม่แต่ก็มักจะใช้ได้พักเดียวก็เลิกไป ชุดเครื่องเสียงระดับกลาง ๆ มักไม่ใช้กันเพราะถือว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็นในระดับนั้น ส่วนโฮมเธียเตอร์นั้นเป็นเรื่องปกติเขาใช้กันทั่วไปทั้งชุดระดับเบื้องต้นราคาประหยัดสำหรับมือใหม่ ชุดระดับกลาง ๆ และชุดระดับคุณภาพสุด ๆ ไม่จำกัดงบประมาณ เราจึงเห็นซับวูฟเฟอร์ที่มีคุณภาพหลากหลายสำหรับโฮมเธียเตอร์

หลักการทำงานพื้นฐาน

หลักการทำงานซับวูฟเฟอร์ไม่ได้แตกต่างลำโพงวูฟเฟอร์ทั้งหลาย อาจจะออกแบบมาให้ทำงานในตู้ปิดหรือตู้เปิดก็ได้ ตู้ปิดทำได้ในขนาดเล็กว่า แต่ว่าตู้เปิดมักจะให้เบสได้ลึกว่าถ้าหากไดรเวอร์มีพารามิเตอร์ที่เหมาะสม มีทั้งทำงานแบบแอคตีฟและแพสซีฟ มีข้อดีข้อเสียตามหลักการเดียวกันกับลำโพงทั้งหลาย สิ่งที่แตกต่างคือมันทำงานในช่วงความถี่ต่ำกว่าลำโพงทั่วไปเท่านั้นเอง ดังนั้นอาจมีการออกแบบพิเศษที่เสริมประสิทธิภาพการอัดอากาศ อาจจะออกแบบมาให้อัดลงพื้นหรืออัดอากาศผ่านตู้และช่องเปิดเล็ก ๆ ด้านหน้าของไดรเวอร์เรียกว่าตู้แบบ Band-Pass หรือ Coupled-Cavity คล้ายกับหลักการของโทรโข่งหรือการป้องปากตะโกน

ซับวูฟเฟอร์แบบแอคทีฟหรือซับวูฟเฟอร์ที่มีแอคทีฟครอสส์โอเวอร์ ที่ออกแบบมาให้ใช้ด้วยกันโดยเฉพาะและอาจมีแอมปลิฟายเออร์มาให้พร้อม จะให้ความสะดวกในการใช้งานมากกว่า อย่างน้อยก็จะปรับความถี่จุดตัดได้ บางรุ่นอาจปรับเฟสได้หรือปรับอื่น ๆ ได้อีกสารพัด โดยหลักการแล้วแบบแอคตีฟนี้ให้ผลการทำงานที่แน่นอนกว่า และสามารถออกแบบให้ลากลงไปถึงความถี่ที่ต่ำกว่าซับวูฟเฟอร์แบบแพสซีฟ แต่ราคาก็จะสูงกว่าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

การเลือกแพสซีฟซับวูฟเฟอร์ไปใช้กับลำโพงหลักที่มีอยู่แล้วต้องระวังเป็นพิเศษ มันอาจจะไปด้วยกันได้ไม่ดีเพราะมีความไวที่ไม่พอดีกัน ซับวูฟเฟอร์อาจจะดังมากเกินไปหรือเบาเกินไป หรือมีการตัดแบ่งความถี่ที่ไม่เหมาะสม ลำโพงหลักกับซับวูฟเฟอร์อาจทำงานในช่วงเหลื่อมกันเป็นย่านกว้าง มีพื้นที่ทับซ้อนมากเกินไปทำให้เกิดการรบกวนทำลายความชัดเจน หรือมันทำงานเหลื่อมกันน้อยเกินไปทำให้บางช่วงความถี่ขาดหายไป จะให้ดีแล้วท่านสามารถเลือกใช้ซับวูฟเฟอร์แบบแพสซีฟได้ต่อเมื่อท่านได้ลองฟังมันในระบบที่ท่านใช้อยู่แล้วปรากฏว่าลงตัวพอดี หรือเป็นซับวูฟเฟอร์ที่เขาออกแบบมาเข้าชุดกับระบบที่ท่านใช้ สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งคือต้องแน่ใจว่าแอมปลิฟายเออร์ของท่านพร้อมที่จะรับภาระกรรมในการขับซับวูฟเฟอร์ที่พ่วงเข้ามา หรืออีกอย่างหนึ่งคือซับวูฟเฟอร์นั้นมีความพร้อมที่จะปรับปรุงให้ใช้เป็นแบบแอคตีฟได้ในภายภาคหน้า

การต่อสัญญาณจากช่อง LFE ของเซอร์ราวนด์โปรเซสเซอร์ต้องดูว่ามีการตัดความถี่ที่ขัดกับครอสส์โอเวอร์ของเราหรือไม่ จะให้ดีแล้วอย่าไปใช้สัญญาณจากช่องนี้จะดีกว่าครับยกเว้นว่าเป็นการใช้ในระบบที่เขาออกแบบมาใช้ด้วยกัน

ส่วนมากนักเล่นนักฟังทั้งหลายตั้งประเด็นมาที่ความลึกและความดังก่อนเรื่องอื่น ๆ นั่นอาจจะเป็นประเด็นหลัก แต่ที่จริงแล้วเท่านั้นยังไม่พอที่จะช่วยให้ท่านหาซับวูฟเฟอร์ที่ท่านจะพอใจมันได้จริง ๆ มีประเด็นสำคัญที่ท่านควรพิจารณาอีก

ความกลมกลืนของระบบ

อันดับแรกที่ควรพิจารณาคือระบบเครื่องเสียงที่ท่านใช้นั้นมีความพร้อมแค่ไหน มีคุณสมบัติการตอบสนองความถี่ย่านความถี่ต่ำเป็นอย่างไร ลำโพงหลักที่เหมาะที่จะใช้กับซับวูฟเฟอร์คือลำโพงที่มีการตอบสนองความถี่ได้ราบเรียบอยู่เป็นทุนเดิม ไม่ได้พยายามยกการตอบสนองที่ช่วงล่างของการทำงานให้เบสบึ้มใหญ่นุ่มอะไรในทำนองนั้น ควรจะให้เสียงย่านกลางที่ดีมาก ๆ มีการยั้งตัวที่ดีที่ความถี่เรสโซแนนซ์ กล่าวง่าย ๆ คือแนวลักษณะเสียงคือเบสค่อนข้างบางมากกว่าบึ้ม เป็นลำโพงตู้ปิดยิ่งเหมาะ ลำโพงหลักที่มีการยั้งตัวที่ดีจะช่วยให้การตัดแบ่งความถี่ทำงานได้ผลดีประสานกับซับวูฟเฟอร์ได้กลมกลืนแนบเนียน

การตัดแบ่งความถี่

อันดับต่อมาคือการตัดแบ่งความถี่ระหว่างลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ ลำโพงที่มีการตอบสนองราบเรียบเป็นต้นทุนเดิมทั้งลำโพงหลัก และซับวูฟเฟอร์สามารถจะใช้ครอสส์โอเวอร์ที่ตัดความถี่ที่มีความชันน้อย ๆ ได้ ซึ่งจะให้ความถูกต้องทางเฟสสูงกว่าให้การตอบสนองความฉับพลันดีกว่า ผู้ออกแบบบางรายรักครอสส์โอเวอร์แบบแพสซีฟเขาว่ามันเป็นธรรมชาติดีกว่า อาจจะไม่ต้องใช้แอมปลิฟายเออร์อื่นเข้ามาเสริมและก็อาจต่อเล่นแบบ Bi-Amp ได้ในกรณีนี้จะเรียกว่า Line-Amp บางรายใช้แบบผสมตัดความถี่ ให้ลำโพงหลักใช้ครอสส์โอเวอร์แบบแพสซีฟ และตัดความถี่ให้ซับวูฟเฟอร์ใช้แบบแอคทีฟ ป้อนสัญญาณเข้าสู่แอมปลิฟายเออร์ต่างหากที่จะขับซับวูฟเฟอร์เป็นการเล่นแบบ Bi-Amp และอาจใช้ครอสส์โอเวอร์แบบแอคทีฟที่สมบูรณ์ทั้งช่วงบนและช่วงล่าง

โดยมากผู้ผลิตทั้งหลายจะบรรจุครอสส์โอเวอร์ไว้ในตู้ซับวูฟเฟอร์เพื่อไม่ให้เกะกะ ผู้ใช้ก็ไม่ต้องคิดมากต่อสายอะไรต่าง ๆ ตามที่คู่มือบอกไว้เป็นอันเสร็จ ซับวูฟเฟอร์แพสซีฟจะใช้ครอสส์โอเวอร์แบบแพสซีฟ ซับวูฟเฟอร์แอคทีฟก็จะใช้ครอสส์โอเวอร์แอคทีฟ อ่านจากสเปคและการบรรยายสรรพคุณจากผู้ผลิตก็จะได้ข้อมูลว่าเขาออกแบบมาอย่างดีสุด ๆ ใช้วงจรที่ให้การตอบสนองแบบ Butterworth หรือ Linkwitz-Riley อะไรทำนองนั้น

บางรายก็บอกตัดให้ชันแล้วดีกว่า ลดการรบกวนได้อย่างชะงัด สะอาดชัดเจน เล่นได้ดัง

บางรายบอกตัดไม่ชันดีกว่าให้การตอบสนองกลมกลืน ให้ความลึกของซาวนด์สเตจ/อิมเมจ

สิ่งสำคัญคือเมื่อนำมาใช้กับลำโพงของท่านแล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร ดังนั้นท่านควรจะลองต่อครอสส์โอเวอร์นั้นกับลำโพงหลักที่ท่านจะใช้ ไม่ว่าจะเป็นแบบแอคทีฟหรือแพสซีฟก็ตามแล้วเปิดฟังเสียงโดยไม่ต้องต่อซับวูฟเฟอร์ เสียงที่ได้ควรจะมีความชัดเจนแจ่มใส เบสจะบางแต่ต้องมีความแน่น มีจังหวะที่แม่นยำ หากได้อย่างนี้แสดงว่าลำโพงหลักนั้นมีความพร้อมที่จะใช้กับซับวูฟเฟอร์แล้ว หากไม่ได้เป็นได้ตามนี้ท่านก็ต้องยกเลิกความคิดที่จะใช้ซับวูฟเฟอร์ ไม่งั้นก็ต้องเปลี่ยนลำโพงหลัก

บางกรณีอาจพบว่าลำโพงหลักออกอาการเบสห้วน ๆ แถมบวมขึ้นเล็กน้อยซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกรณีของการใช้กับแพสซีฟครอสส์โอเวอร์ และหากท่านใช้ลำโพงหลักเป็นลำโพงตู้เปิดก็ลองอุดช่องเปิดด้วยผ้าม้วนให้แน่นถ้าทำให้เบสบางลงไป และชัดเจนขึ้นก็แสดงว่าพอได้

แอมปลิฟายเออร์

แอมปลิฟายเออร์ที่ให้กำลังได้มากจริงในช่วงความถี่ต่ำไม่ใช่ว่าหากันได้ง่าย ๆ ตัวเลขสเปคมักจะวัดกันที่ 1,000 Hz นะครับอย่าลืม แอมปลิฟายเออร์สำหรับซับวูฟเฟอร์ต้องสามารถจ่ายกระแสได้มาก และส่งต่อเนื่องได้นานพอเพราะสัญญาณความถี่ต่ำมีช่วงคลื่นยาวมีคาบเวลาที่นาน โดยปกติหม้อแปลงขนาดใหญ่จะเป็นปัจจัยหลักครับ คาปาซิเตอร์ที่มีความจุเผื่อเหลือไว้มาก ๆ ยังมีความจำเป็นน้อยกว่าแต่ผู้ผลิตแอมปลิฟายเออร์โดยมากเอามาคุยอวดกัน

ซับวูฟเฟอร์แบบแพสซีฟอาจจะดูว่าประหยัดในตอนแรกจะมาเป็นภาระของแอมปลิฟายเออร์ที่ใช้อยู่เดิม อาจทำให้มันถึงขีดจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ออกอาการของความรวนเรให้เห็นเมื่อต้องขับเบสพลังงานมาก ๆ สุดท้ายท่านก็ต้องหันมาใช้ในแบบแอคทีฟ

ซับวูฟเฟอร์แอคตีฟส่วนมากจะมีแอมปลิฟายเออร์บรรจุไว้ในตู้ลำโพง ท่านไม่สามารถเลือกหรือเปลี่ยนแอมปลิฟายเออร์ได้ง่าย ยกเว้นต้องงัดกันเป็นการใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาคุณภาพของแอมปลิฟายเออร์ที่เขาให้มาด้วย อาจจะยากที่จะแยกประเมิน อาจทำได้เพียงแค่พิจารณาจากข้อมูลที่ผู้ผลิตให้มา หรือไม่ก็ ใช้ไม้ตาย ฟังเสียงกันเลยก็แล้วกัน

แต่ถ้าท่านเลือกแอมปลิฟายเออร์มาขับซับวูฟเฟอร์ได้ ควรพิจารณาใช้แอมปลิฟายเออร์ที่มีกำลังไม่น้อยกว่าที่ใช้ขับลำโพงหลัก หรือเผื่อไปอีกเท่าตัวก็ได้ ให้ได้สัก 100-200 วัตต์ก็ดี และควรใช้แอมปลิฟายเออร์ที่มีแนวเสียงใกล้เคียงกัน ออกแบบมาในแนวเดียวกัน เต็มที่ไม่เกิน 300 วัตต์ ขอให้มีกำลังจริงก็แล้วกัน

เราไม่จำเป็นต้องไปถึง 20 Hz เสมอไปนี่ครับ ชุดเครื่องเสียงระดับกลางๆไม่ต้องพยายามไปให้ถึงขนาดนั้น หาซับวูฟเฟอร์ที่ช่วยให้ระบบเดิมของท่านลงไปอีกสักออคเตฟหนึ่งก็ได้อะไรดี ๆ ขึ้นมาเยอะแล้ว อย่างเช่นใช้แอมปลิฟายเออร์ 50-60 วัตต์กับลำโพงเล็กมีไดรเวอร์ขนาด 5-6 นิ้ว ซึ่งจะให้เบสได้ดีมีคุณภาพลงไปได้ประมาณ 80 Hz สบาย ๆ อย่างนี้เราก็หาซับวูฟเฟอร์ขนาดย่อม ๆ ใช้ไดรเวอร์ขนาด 8-10 นิ้ว พร้อมด้วยแอมปลิฟายเออร์ขนาด 50-60 วัตต์ก็พอแล้ว ต่อการตอบสนองลงไปถึง 40 Hz หากมันทำงานได้ดีจริงแค่นี้ก็มีความสุขแล้วสำหรับชุดระดับกลาง ๆ

ห้องและตำแหน่งการวาง

เรื่องพื้นฐานของอคูสติคส์เราไม่ว่ากันในบทความนี้นะครับ ท่านไปหาอ่านเองจากฉบับย้อนหลัง ข้อสำคัญคือต้องระลึกว่าเมื่อเราเปิดหน้าต่างกว้างขึ้น เผชิญหน้ากับช่วงความถี่ที่กว้างขึ้น เราก็ต้องทำให้อคูสติคส์ของห้องมีความสมดุลให้เต็มช่วงความถี่นั้น วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆมีคุณสมบัติทางอคูสติคส์ที่ต่างกัน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม อุปกรณ์หรือวัสดุทางอคูสติคส์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน ในโอกาสนี้ผมจะว่าไปเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับซับวูฟเฟอร์เป็นหลัก

มีรถแรงก็ต้องหาถนนให้วิ่งยาว ๆ

อคูสติคส์ที่ความถี่ต่ำต้องการอุปกรณ์พิเศษมาควบคุม แผ่นฟองน้ำรูมจูนก้อนเล็ก ๆ หรือดิฟฟิวเซอร์ที่เห็นกันทั่วไปนั้น ไม่สามารถให้ผลในช่วงความถี่ต่ำนี้ อย่างน้อยท่านต้องมีอุปกรณ์ประเภท XAV Tube Trap หรือหากใช้ดิฟฟิวเซอร์ก็ต้องลึกเป็นเมตร ควรจะต้องมีอุปกรณ์จัดการกับ Standing Wave (XAV SWK) ของห้องซึ่งมีความถี่สัมพันธ์กับขนาดของแต่ละห้อง

ในด้านตำแหน่งการวางซับวูฟเฟอร์ก็เป็นประเด็นสำคัญ มีความคิดความเชื่อแบ่งเป็นสองแนวครับ

แนวหนึ่งคือผู้สันทัดกรณีเขาว่าคลื่นความถี่ต่ำมีความยาวคลื่นยาวมากจนคนเราจะระบุตำแหน่งของต้นกำเนิดเสียงไม่ได้ ดังนั้นจึงสามารถวางห่างจากลำโพงหลักได้ไม่ต้องห่วง เขาบอกว่าใช้ซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวก็พอแล้วและดีกว่าซับวูฟเฟอร์สองตัว ในแนวนี้เขาแนะนำให้วางซับวูฟเฟอร์ไว้ที่มุมห้อง หลังลำโพงหลัก ตำแหน่งนี้จะเสริมประสิทธิภาพให้พลังเสียงเต็มห้องด้วยผนังทั้งสามด้านที่มุมห้อง ตามทฤษฏีมันจะเสริมความดังขึ้นถึง +9dB ผู้ผลิตหลายรายยึดถือแนวนี้เช่นกลุ่ม Harman ซึ่งนำโดย Floyd E. Toole นักวิจัยคนดังในศาสตร์ของอคูสติคส์ ผู้ผลิตอีกรายหนึ่งก็คือ REL Acoustics ผู้เชี่ยวชาญทางซับวูฟเฟอร์โดยเฉพาะ ในแนวทางนี้น่าจะต้องตัดแบ่งความถี่ให้ซับวูฟเฟอร์ที่ความถี่ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งไม่ควรสูงกว่า 80 Hz และใช้ครอสส์โอเวอร์ที่มีความชันมากๆเข้าไว้เริ่มต้นที่ 24dB/Octave

อีกแนวหนึ่งให้ความสำคัญกับความกลมกลืนระหว่างลำโพงหลักกับซับวูฟเฟอร์มากกว่าการเน้นพลังของเบส วางซับวูฟเฟอร์ไว้ใกล้ ๆ ลำโพงหลักเพื่อให้เฟสใกล้เคียงกลมกลืนต่อเนื่องกัน อาจจะใช้ซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวหรือสองตัวก็ได้แต่บอกว่าใช้เป็นคู่จะดีกว่า นักเขียนนักวิจารณ์หลายรายจะมีความเห็นในแนวนี้ เอาไว้วันหลังจะแปลบทความจาก The Perfect Vision ให้อ่านกัน ตัวผมเองก็มีความเห็นคล้อยตามไปทางนี้ ผมคิดว่าคนเรายังสามารถรับรู้ตำแหน่งเสียงที่ความถี่ต่ำได้ แม้ว่าที่ความถี่ต่ำมาก ๆ เราอาจจะสับสนแยกได้ไม่ชัดเจน แต่ในการทำงานจริงซับวูฟเฟอร์ยังทำงานในช่วงความถี่เหนือจุดตัดแบ่งอยู่ ซึ่งจะเหลื่อมกับลำโพงหลักอยู่ราว ๆ สอง-สามออคเตฟ ซึ่งจะเข้าไปในย่านความถี่ที่เราแยกซ้ายขวาได้แล้ว

แนวคิดที่ขัดแย้งกันนี้มีรายละเอียดพอที่จะแยกเป็นอีกบทความยาว ๆ ได้สบาย โปรดติดตามในโอกาสต่อไปครับ

ข้อคิดในการเลือกซับวูฟเฟอร์

พิจารณาถึงพัฒนาการของรสนิยมหรือความชอบของท่าน ตอนแรกท่านอาจจะเริ่มต้นกับเบสที่มหาศาลล้นเหลือ แต่หลังจากนั้นสักพักอาจจะรู้สึกมึนหัว นักเล่นนักฟังทั่วไปมักจะเห่อกับพลังของซับวูฟเฟอร์ใหม่ และเปิดดูกับเรื่อง Jurassic Park และ Terminator 2 ดูซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายรอบ ต่อมาก็เริ่มสนุกกับภาพยนต์และดนตรีที่หลากหลายขึ้น แล้วก็เริ่มจะสังเกตุได้ว่าเบสที่เคยว่ากำลังมันนั้นดูเหมือนจะมากเกินไปหน่อยและไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร หลายคนพบว่าซับวูฟเฟอร์นั้นเองที่เป็นตัวที่น่ารำคาญในการฟังดนตรีมันเรียกร้องความสนใจเข้าตัวเองมากเกินไป ในการลองฟังท่านต้องแน่ใจว่าซับวูฟเฟอร์ที่จะเลือกมีคุณภาพเพียงพอที่ทำให้ท่านมีความสุขเป็นปี ๆ ไม่ใช่แค่ไม่กี่เดือน

ไม่ว่าจะปรับแต่งด้วยความพิถีพิถันสุดยอดสักเพียงไหน ท่านจะไม่มีทางที่จะได้รับความสมบูรณ์แบบสำหรับเพลงทุก ๆ รูปแบบ เพราะการบันทึกดนตรีไม่ใช่ว่าจะทำมาในแบบเดียวกันเสมอ ถ้าท่านพยายามใช้ซับวูฟเฟอร์เพื่อชดเชยการบันทึกทุก ๆ แผ่นท่านจะเสียเวลาเปล่า ปรับซับวูฟเฟอร์ให้เข้ากับเพลงที่บันทึกมาดี ๆ ที่ท่านเลือกเองแล้วปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ

บทส่งท้าย

ในทางปฏิบัติเท่าที่ลองมาผมชอบที่จะใช้ซับวูฟเฟอร์สองตัวเป็นสเตอริโอมากกว่า มันสร้างบรรยากาศได้เต็มกว่าและหายตัวไปได้ง่ายกว่า ให้ความรู้สึกเหมือนจริงมากกว่า

อย่างที่เรียนไว้ข้างต้นว่าซับวูฟเฟอร์ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ของระบบเครื่องเสียงในระดับปัจจัยพื้นฐาน มันเป็นของเสริมที่จะเพิ่มสมรรถนะของระบบที่เรามีอยู่

หากคิดจะใช้ซับวูฟเฟอร์ก็ต้องเลือกให้ดีครับตระเวณฟังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าเพิ่งหลงไปกับปริมาณ ต้องรู้จักว่าคุณภาพคืออะไร

ช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ผมใช้ซับวูฟเฟอร์ค่อนข้างบ่อย ก็ตั้งแต่ปรับปรุงซับวูฟเฟอร์ตัวใหม่ขึ้นมาฟังแล้วก็ชักติดครับ เคยตัว ฟังแล้วรู้สึกว่าสะใจดี ไม่ใช่ว่าอยากฟังเบสหนัก ๆ แน่น ๆ เท่านั้น สิ่งที่ทำให้ติดใจคือบรรยากาศและความรู้สึกครับ คนตรีที่มีเบสลึกจริง ๆ คงหนีไม่พ้นดนตรีคลาสสิค ซอฟท์แวร์ที่หาง่ายคือฟังจากแผ่นของ Reference Recording มีให้เล่นหลายแผ่น เห็นชื่อของ Eji Oue ก็พอจะหยิบได้ไม่ผิดหวัง และ Telarc ก็มีเพลงที่หลากหลายทั้งที่เป็นดนตรีคลาสสิค และดนตรีประเภทคลาสสิคแปลงออกแนวของดนตรีประกอบภาพยนต์มีซาวนด์เอ็ฟเฟ็คท์ปนเข้าไป ก็มีหลายแผ่นให้ลองฟังครับ แทร็ค A Whole New World และ This Land/Circle of Life จากแผ่น The Magical Music of Disney จะพบกับความชัดเจนที่ผมเองก็ไม่คิดว่า Telarc ทำได้ถึงขนาดนี้ เดิมคิดว่าทำได้แค่เบสใหญ่ ๆ หนัก ๆ เท่านั้น แต่คราวนี้ให้บรรยากาศที่ดีมากเสียงร้องก็ให้ความชัดเจนราวกับจะจับต้องได้ หรือจะลองกับแทร็ค 20 จากแผ่น The Great Fantasy Adventure Album ขึ้นต้นมาก็ตึ้ง ๆ ตั้ง ๆ ธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษมากทำนองก็ซ้ำวนไปวนมา ใครดูเรื่อง Terminator 2 มาแล้วจะรู้จัก ต้องฟังให้ถึงตอนจบครับ ระเบิดล้างโลก!!! ห้องลั่นเปรี๊ยะเลย นานๆฟังทีก็สนุกดีครับ Telarc ออกซอฟท์แวร์ที่จะเล่นได้มัน ๆ อีกเยอะครับ ผมเองก็ซื้อไว้หลายแผ่นรวมทั้งแผ่นในชุด Discover Jazz ด้วย คุณภาพเสียงดีหลายแผ่นครับ

ถ้าไม่ฟังกับเพลงคลาสสิคก็ได้ครับ เพลงร็อคก็สนุกหากเป็นบันทึกการแสดงสดยิ่งสนุกใหญ่ เสียงของ Kick Drum ที่คู่ไปกับเสียงกีต้าร์เบสโดยไม่ปะปนก่อกวนกันเองให้ความรู้สึกที่ดี แผ่น Hell Freezes Over ของ Eagles ท่านรู้จักดี แต่ต้องเป็นแผ่นที่มาจากอเมริกานะครับ อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย Hell Freezes Over นี้แผ่นที่ทำในไทย เก็บไว้ฟังเล่นในรถยนต์เถอะ อย่าเอามาเล่นกับชุดเครื่องเสียงเต็มระบบเลย หากได้ฟังแล้วท่านจะรู้ได้ว่ามีความแตกต่างมหาศาลจากสียงที่ท่านเคยได้ยินจากลำโพงทั่วไป มันเป็นรายละเอียดในท่วงทำนองเบสครับไม่ใช่มีแต่ปริมาณ วันหลังว่าง ๆ มาลองฟังได้ที่สำนักงาน XAV Audio ครับ มาพร้อม ๆ กันหลาย ๆ คนก็ได้

ในการฟังแบบสบาย ๆ ไม่เจตนาจะอวดศักดาของพลังเบส ฟังแบบชีวิตประจำวันมันก็ให้ความสุขกับดนตรีทั่วไปครับ ไม่จำเป็นต้องฟังกับดนตรีที่มีพลังเบสมาก ๆ เท่านั้น ปรับแต่งได้ดีแล้วจะเหมือนว่าไม่ได้มีเสียงออกมาจากซับวูฟเฟอร์เลย ความถี่ต่ำ ๆ ที่อุ้มชูหล่อเลี้ยงเสียงทั้งหมดไว้จะกลมกลืนกับเสียงทั้งหมด ฟังแล้วมันฉ่ำอกฉ่ำใจดีแท้

ถึงเวลาที่จะต้องจบจริง ๆ แล้ว ขอฝากไว้อีกนิดเดียวว่า ท่านจะสามารถหาซับวูฟเฟอร์ที่ดีได้ก็ต่อเมื่อท่านรู้จักว่าเบสที่ดีนั้นเป็นอย่างไร จะรู้จักเบสที่ดีได้ก็ต้องได้ฟังด้วยหูตนเองก่อนไม่ใช่คิดเดาไปล่วงหน้า ในทำนองเดียวกับที่ปราชญ์เขาว่าต้องรู้ว่าเป้าหมายจริงอยู่ไหนก่อนแล้วค่อยเลือกพาหนะให้เหมาะสม เพราะฉะนั้น..เริ่มต้นให้ถูกนะครับ