สาระสเตอริโอ ก่อนเลือกลำโพง

สาระสเตอริโอ ก่อนเลือกลำโพง

โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ

สเตอริโอเรามีฉบับ “ลำโพง” กับเขาประมาณปีละครั้ง ปีนี้ครั้งแรกตั้งใจจะขอเป็นผู้อ่านอย่างเดียว แต่ได้มีพรรคพวกที่เข้ามาที่สำนักงานบอกว่า จะไม่เขียนอะไรสักหน่อยเหรอ?
ผมบอกว่าผมหมดมุข หมดแรงบันดาลใจ
เขาก็บอกว่า ให้เขียนวิธีเลือกลำโพงนั่นแหละ เรื่องง่าย ๆ ที่คนอ่านจะได้ประโยชน์
ผมมานึกดู เวลาเราไปถามกับผู้เชี่ยวชาญว่า อยากได้ลำโพงสักคู่ เขาจะถามว่าห้องขนาดเท่าไร? แอมป์ขนาดเท่าไร? ฟังเพลงแบบไหน? เป็นคำถามที่เป็นสูตรสำเร็จของผู้เชี่ยวชาญเขา
แต่ยังไม่เคยมีใครถามกลับมาเลยว่า “พี่ชอบลำโพงแบบไหนล่ะ?”
เพราะจริง ๆ แล้วคนที่กำลังหาลำโพงนั้น เกือบทั้งหมดมีลำโพงที่เล็ง ๆ ไว้แล้ว และเป็นที่น่าสังเกตว่ามือใหม่ที่ชอบลำโพงวางพื้นจะไม่ชอบลำโพงวางขาตั้ง หรือคนที่ชอบลำโพงวางขาตั้งก็จะไม่ชอบลำโพงวางพื้น เรียกว่าตัดสินใจมาตั้งแต่ออกจากบ้านแล้ว
คราวนี้เลยตั้งใจบอกให้ทราบกันล่วงหน้าว่า หากชอบลำโพงเล็ก วางขาตั้ง เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง? หรือชอบลำโพงใหญ่ ๆ ตั้งพื้น ต้องเตรียมอย่างไรบ้าง?

ลำโพงวางขาตั้ง (ลำโพงเล็ก)
ลำโพงเล็กจะจำกัดขนาดของไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์เอาไว้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5-7 นิ้ว และเป็นตู้แบบวางขาตั้ง (Stand Mounted) ที่เรียกกันในยุคนี้ หรือเรียกลำโพงวางหิ้ง (Book Shelf) อย่างที่เรียกกันในอดีตร่วมยี่สิบปีที่แล้ว

ขาตั้งสำหรับลำโพงเล็ก
การเล่นลำโพงเล็ก สิ่งที่ต้องคิดเผื่อเอาไว้คือ ขาตั้งลำโพง ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก เช่นวัสดุที่ไว้ทำขาตั้ง อุปกรณ์ที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อ (Coupling) ระหว่างกันลำโพงกับขาตั้ง ระหว่างฐานของขาตั้งกับพื้น และความสูงของขาตั้ง
โดยทั่วไปขาตั้งจะทำจากวัสดุ 2 จำพวก คือ ไม้ กับโลหะ

ขาตั้งไม้ หรือวัสดุคล้ายไม้ เช่น เอ็มดีเอฟ พาร์ติเกิลบอร์ด ชิปบอร์ด ไม้อัด ไม้แท้ พวกนี้จะมีคุณสมบัติช่วยดูดซับ (Damp) การสั่นสะเทือนที่ถ่ายทอดมาจากตู้ลำโพงอยู่บ้าง โอกาสที่จะสะท้อนการสั่นสะเทือนเด้งกลับไปสู่ตู้ลำโพงมีน้อยกว่า เนื่องจากอิมพีแดนซ์เชิงกลของตู้และขาใกล้เคียงกัน แต่ขาไม้ต้องออกแบบให้มีความแข็งแรงเพียงพอ จึงมีข้อเสียเปรียบพวกโลหะอยู่บ้าง ที่มีความหนาทึบของขามากกว่า หากออกแบบรูปทรงได้ไม่ดีก็จะเกะกะการกระจายเสียงมากกว่า ขาตั้งไม้จึงต้องระวังเรื่องความแข็งแรง และรูปทรงของขาที่มีผลต่อการกระจายเสียงด้วย

ขาตั้งโลหะ อาจทำจากเหล็ก อลูมินั่ม สแตนเลสส์ ได้เปรียบเรื่องความแข็งแรง แต่ต้องระมัดระวังในการใช้งานมากกว่า ขาที่กลวงจะมีเสียงก้องกังวานของขาออกมาแข่งกับเสียงจากลำโพง ลองเคาะขาดูว่ามีเสียงดังแถว ๆ ความถี่ไหน จุดนั้นจะเป็นความถี่เรสโซแนนซ์ของเขา เมื่อพ้องกับการสั่นสะเทือนของตู้ลำโพง มันก็จะส่งเสียงออกมารบกวน ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเสียงกลางจนถึงกลางสูง สามารถฟังออกได้จากความผิดเพี้ยนของเสียงนักร้องผู้หญิง ในลักษณะก้อง ๆ กลวง ๆ ไม่มีทรวดทรงของอิมเมจ
ขาโลหะกลวงจึงควรมีวัสดุที่ช่วยซึบซับหรือสลายการสั่นสะเทือนบรรจุเอาไว้ ทรายหรือลูกปืนกลม ๆ เป็นที่นิยมกัน การมีช่องว่างระหว่างเม็ดทรายหรือลูกปืนที่สามารถขยับตัวได้เล็กน้อยจะช่วยสลายพลังงานได้ แต่ใส่จำนวนเท่าไรต้องทดลองดู บางคนก็ชอบเพราะสามารถจูนเสียงให้ได้ตามที่ตนอยากให้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างฐานลำโพงกับฐานของขาตั้ง มีไว้เพื่อวางลำโพงให้นิ่ง เพราะฐานของลำโพงกับฐานของขาตั้ง แม้จะทำให้ราบเรียบแค่ไหน มันก็ยากที่จะเฉลี่ยน้ำหนักกดลงบนขาตั้งได้ เท่า ๆ กันทุกจุด และเมื่อเกิดการสั่นเกิดขึ้นก็จะมีเสียงรบกวนมาก วัตถุประสงค์รองของอุปกรณ์รองรับตู้ลำโพงคือช่วยสลายการสั่นสะเทือนได้บางส่วน (หากปล่อยให้มีการขยับตัวได้บ้าง)

ขาตั้งไม้หรือที่มีฐานเป็นไม้มักจะใช้งานได้ดีกับอุปกรณ์กรวยแหลมจำพวกทิป-โท สามารถวางได้นิ่ง และส่งผ่านการสั่นสะเทือนจากตู้ลำโพงลงสู่ขาตั้งให้ขาตั้งช่วยสลายการสั่นสะเทือนได้ดี

วัสดุกรวยแหลม จะวางหงายหรือวางคว่ำก็ได้ อาจให้เสียงแตกต่างกันหรือเหมือนกันขึ้นกับความแข็งของผิวที่ปลายแหลมสัมผัส หลักการง่าย ๆ คือปลายแหลมควรจะจิกเข้าไปสู่ผิวที่นุ่มกว่า เพื่อให้การจัดวางนิ่ง แน่น ไม่ลื่นไถล แต่โดยทั่ว ๆ ไปนักเล่นชอบวางเดือยแหลมจิกลงบนขาตั้ง (คงเพราะขาตั้งราคาถูกกว่า) หากไม่หวงก้นของตู้ลำโพงจนเกินไป ลองวางปลายแหลมหงายขึ้นหากับลำโพงดูสักครั้ง บางครั้งอาจให้เสียงได้ดีกว่าจนติดใจเลยก็ได้

ต้องระวังผิวฐานลำโพงหรือฐานขาตั้งที่เป็นพวกไฮครอสส์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นผิวของยูรีเทนชนิดแข็ง ถ้าปลายแหลมจิกไม่เข้าเลยก็ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้เลย
ขาตั้งเหล็กส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับการใช้พวกกรวยแหลม ซึ่งเกือบทั้งหมดทำจากโลหะพวกอลูมินั่มหรือทองเหลือง ความสามารถส่งผ่านการสั่นสะเทือนได้ดีของกรวยแหลม ทำให้พลังงานการสั่นสะเทือนเกือบทั้งหมดส่งผ่านไปฐานขาตั้งซึ่งทำจากเหล็ก อิมพีแดนซ์เชิงกลของไม้ (ตู้ลำโพง) กับฐานเหล็กแตกต่างกันมาก ทำให้พลังงานจากการสั่นสะเทือนทะลุเข้าไปในขาเหล็กได้น้อย พลังงานส่วนใหญ่สะท้อนกลับมาสู่ตู้ลำโพง เมื่อมาเจอกับคลื่นความสะเทือนที่เกิดตามมา ก็จะช่วยเสริมกันให้สั่นหนักเข้าไปอีก เสียงที่ได้จึงมีช่วงกลางแหลมค่อนข้างแข็ง ดุลย์น้ำเสียงค่อนมาทางกลางแหลม สว่างไสวเกินไป เบสจะบางกว่าวางลำโพงบนขาตั้งโดยตรง โดยไม่ใช้กรวยแหลมด้วยซ้ำไป

การใช้ทิปโทหรือดินน้ำมันควรใช้แค่ 3 จุด และเพื่อการวางที่เสถียร ควรวางด้านหน้า 2 จุด ด้านหลัง 1 จุด เพราะจุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักของลำโพงส่วนใหญ่ค่อนมาทางด้านหน้าตู้

ส่วนการวางขาตั้งกับพื้นก็หลักการเดียวกัน ถ้าจะใช้กรวยแหลมก็ต้องมั่นใจว่าปลายแหลมมันจิกลงไปในส่วนที่อ่อนนุ่มได้ กรณีพื้นปูพรมก็ต้องมั่นใจว่า ปลายแหลมมันทะลุพรมลงไปจนถึงพื้นด้านล่างจริง ๆ ทดลองผลักที่ตู้ลำโพงเบา ๆ ก็รู้แล้วว่าขาตั้งวางไว้มั่นคงหรือไม่ พวกเหรียญมีหลุมเล็ก ๆ สำหรับรองรับปลายแหลมกับพื้นเป็นรอยก็มี ข้อเสียตรงที่หากน้ำหนักของลำโพงและขาตั้งไม่พอ ขณะลำโพงทำงานปลายแหลมกับเหรียญที่รองรับสามารถขยับตัวได้เล็กน้อย เท่ากับวางลำโพงได้ไม่นิ่งจริง มีผลเสียต่อความชัดเจน ความนิ่งของอิมเมจ

ความสูง ของขาตั้งทางที่ดีก็ทำตามคู่มือก็จะดี แต่หลักการทั่ว ๆ ไป ความสูงของขาตั้งต้องทำให้ลำโพงยกสูงจากพื้น จนความสูงของทวีตเตอร์อยู่ระดับเดียวหรือสูงกว่าระดับหูเล็กน้อย หลักการนี้ต้องระวังหากเรานั่งเก้ากี้สูงเกินไป ลำโพงจะถูกยกสูงจากพื้นเกินควร และเมื่อไรที่ตำแหน่งของไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์เข้าใกล้ตรงกลางระหว่างพื้นกับเพดานห้อง เบสก็จะเกิดการหักล้างกันอย่างรุนแรง เป็นตำแหน่งที่เบสค่อนข้างจะเบาและไม่ราบเรียบ หากเป็นไปได้ให้ปรับความสูงต่ำของเก้าอี้แทนการเพิ่มหรือลดความสูงของขาตั้งให้ต่างไปจากคำแนะนำของคู่มือ

ขนาดของไดรเวอร์ในลำโพงเล็ก
ขนาดของไดรเวอร์จะสัมพันธ์กับขนาดของตู้ลำโพง ไดรเวอร์ขนาดเล็ก ตู้ขนาดเล็ก มักให้สเตอริโออิมเมจได้ดีกว่า เพราะไม่มีตัวตู้ไปเกะกะการกระจายเสียงจากไดรเวอร์ โดยผู้เล่นต้องยอมเสียสละเบสต่ำ ๆ กว่า 60 Hz ไป ไดรเวอร์ขนาด 5 – 5 ½ นิ้ว พวกนี้คนเลือกเล่นจึงค่อนข้างใจถึง หรือรู้ซึ้งถึงคุณความดีของมัน เป็นนักเล่นชนิด “Image to die for” พวกไดรเวอร์ 6 ½ – 7 นิ้ว สามารถออกแบบเป็นลำโพงเล็ก ๆ จนถึงลำโพง “เขื่อง” มักได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด เพราะให้สเตอริโออิมเมจได้ชัดเจน ใกล้เคียงกับไดรเวอร์ที่เล็กกว่า แต่ตอบสนองความถี่ต่ำได้ต่ำลึกกว่า

ความถี่ต่ำในลำโพงเล็ก
ใครสนใจลำโพงเล็กมักมีความกังวลลึก ๆ เสมอว่า มันจะให้เบสได้พอหรือ?

ความกังวลดังกล่าวทำให้ผู้ออกแบบลำโพงเล็ก ในราคาระดับการเริ่มต้นจนถึงระดับกลาง ๆ มักออกแบบให้ลำโพงเล็กตอบสนองความถี่ต่ำแบบที่เรียกว่า “เบสเกินตัว” โดยการยกความถี่ต่ำช่วงมิดเบสตอนบน (ช่วงประมาณ 60 – 80 Hz) ขึ้นมา เพื่อให้ฟังแล้วรู้สึกว่าเบส อวบอิ่มและใหญ่เกินตัว ฟังแล้วคุณเลิกกังวลเรื่องเบสได้เลย
การออกแบบดังกล่าวยังมีผลดีตอนฟังกันในระดับความดังต่ำกว่าระดับปกติ เพราะมันยังเหมือนมีเบสเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อเสียของลำโพง “เบสเกินตัว” คือไม่สามารถให้ความแตกต่างระหว่างแผ่นที่บันทึกมาดีมาก ๆ กับแผ่นทั่ว ๆ ไปได้ดีนัก ไม่สามารถให้ความแตกต่างของคุณภาพของอุปกรณ์ที่มาใช้ร่วมได้มากนัก เนื่องจากลำโพงดุลย์น้ำเสียงที่ไม่เป็นกลาง มีบุคลิกติดตัวอยู่ตลอดเวลา

ข้อเสียที่ถือเป็นข้อดีก็ได้คือ ลำโพงพวกนี้จะใช้กับแอมป์กำลังสูง ๆ มีกำลังสำรองดี ๆ ไม่ค่อยได้ เพราะแรงของแอมป์จะไปฝืนให้ลำโพงขยับตัวมากขึ้นตรงบริเวณเรสโซแนนซ์ ผลคือเบสจะออกอาการตื้อ ๆ คล้าย ๆ วันโน้ตเบส แต่กับแอมป์กำลังน้อยๆ ลงมาพอดีกับตัวมันอาการดังกล่าวจะไม่ปรากฏ เพราะแอมป์กับลำโพงหมดแรงไล่เรี่ยกันไม่มีใครไปฝืนให้ใครทำงาน ฉะนั้นใครชอบแอมป์สไตล์นี้ต้องระมัดระวังกับการใช้แอมป์กำลังสูงเกินไป

ตรงกันข้ามกับลำโพงเบสพอดีตัว เขาจะออกแบบให้เบสเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเสียงดนตรี อย่างที่ควรจะได้ยินเป็นเบสที่มีค่า Q พอดี ๆ ลำโพงพวกหลังนี้ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยงกำลังของแอมป์ แอมป์ยิ่งกำลังมากยิ่งชอบยิ่งเสียงดี อยากได้สมรรถนะด้านอื่น ๆ ของลำโพงเล็กดี ๆ ให้ครบถ้วน เช่น ความโปร่งใส ไดนามิค อิมเมจที่เป็นตัวเป็นตน ความกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา ก็ไม่ควรไปกังวลกับ “ปริมาณ” ของความถี่ต่ำจนเกินไปครับ

ห้องสำหรับลำโพงเล็ก
ลำโพงเล็กโดยทั่วไปจะเหมาะกับห้องที่มีพื้นที่ประมาณ 12-30 ตารางเมตร (ที่ความสูง 2.5 – 3.0 เมตร)
ห้องที่เล็กเกินไปจะจำกัดสมรรถนะด้วยอิมเมจ-ซาวนด์สเตจไว้ เพราะต้องวางลำโพงใกล้ผนังห้อง ทำให้มีการสะท้อนเสียงแบบ Early Reflection กับผนังห้องมีมาก
ห้องที่ใหญ่เกินไป เบสจะออกบาง ๆ เพราะไม่มีเบสจากผนังห้องมาเสริม แถมต้องเร่งกำลังที่แอมป์มาก ๆ ความเพี้ยนจากการกรวยเบส/มิดเรนจ์ต้องขยับตัวยาว ๆ ก็ยิ่งมีมาก

แม้ปัญหาความถี่ต่ำ ๆ ภายในห้องจะเกิดขึ้นน้อยกว่าลำโพงขนาดใหญ่ แต่ปัญหาอื่น ๆ ก็ไม่ควรมองข้าม ลำโพงเล็กจะทำงานได้เต็มสมรรถนะ ต้องมีที่ว่าง ๆ รอบ ๆ ลำโพงให้มันพอสมควร ควรวางห่างผนังด้านหลังอย่างน้อย 80 ซม. ได้ถึง 250 ซม. ยิ่งดี ลำโพงออกจากผนังหลังอิมเมจทางด้านลึกก็ยิ่งดีขึ้น และควรจะมีการซับเสียงสะท้อนบริเวณใกล้ ๆ ลำโพงบ้าง

กำลังของแอมป์สำหรับลำโพงเล็ก
ลำโพงเล็กพวกเบสใหญ่เกินตัว ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกำลังขับไม่พอ (กลัวกำลังขับจะเกินเอา) ใช้อินทิเกรเต็ดแอมป์กำลัง 20-75 วัตต์ก็เหลือ ๆ แล้ว แต่ลำโพงเล็กคุณภาพดี ๆ ในระดับไฮเอ็นด์ ออกแบบมาพิถีพิถันในสมรรถนะรอบด้าน การใช้แอมป์กำลังที่สูงขึ้นมักจะให้ผลในทางที่ดีขึ้นมากกว่า อย่าลืมว่าที่ความถี่ 60 Hz ไดรเวอร์ตัวเล็ก ๆ จิ๋ว ๆ ต้องขยับกรวยให้ได้มาก ๆ ขยับกันแทบตาถลน จึงจะสร้างความถี่ต่ำขึ้นมาได้ อาจจะเคลื่อนตัวถึง 8 มม. ขณะที่กรวยไดรเวอร์ขนาดใหญ่ขยับตัวเดินหน้าถอยหลังแค่ 2-3 มม. ก็ให้ความถี่เดียวกันแล้ว กรวยยิ่งขยับเยอะ กระแสไฟจากวอยซ์คอยล์ก็จะไหลย้อนกลับมาที่แอมป์ (Back EMF) ก็ยิ่งมากตาม แอมป์ที่สามารถจ่ายกระแสได้สูง (High Current Capability) ก็ยิ่งจำเป็น แอมป์กำลังไม่พออาจทำให้กรวยขยับผิดจังหวะเวลา สามารถฟังออกถึงเสียงเบสที่พร่า ๆ เบลอร์ ๆ และเสียงเบสติดตู้ไม่หลุดไปอยู่ในตำแหน่งของชิ้นดนตรีความถี่ต่ำอย่างที่ควรจะเป็น

เขียนไปเขียนมาดูเหมือนผมจะเอนเอียงมาทางแอมป์กำลังสูง ๆ แต่ดูเหมือนเฉพาะลำโพงที่ให้เบสได้ราบเรียบ มีค่า Q ของความถี่ต่ำพอดี ๆ หรือค่อนข้างต่ำเท่านั้นที่ชอบแอมป์กำลังสูง ๆ เป็นพิเศษ

ดนตรีสำหรับลำโพงเล็ก
นักทดสอบเครื่องเสียงบางคนชอบใช้ดนตรีวงใหญ่ ๆ แบนด์วิดธ์กว้าง ๆ มา “ลองดี” กับลำโพงเล็ก และบอกว่าลำโพงเล็กตัวนั้นมันดีกว่าตัวโน้นตัวนี้ ผมกลับมองว่าจะยิ่งทำให้หลงประเด็น

ลำโพงเล็กที่ดี ที่เก่งสุด ๆ เรื่องเบสอย่างมากก็ให้จังหวะความถี่ต่ำได้ดี พอจะเลี้ยงซาวดน์สเตจของวงซิมโฟนีออเคสตร้าเอาไว้ได้ ให้ขนาดวงได้พอประมาณ ความถี่ต่ำ ๆ ลึก ๆ ปรากฏอยู่ให้รู้สึก ทุกอย่างดูเหมือนพอกระเทินหรือพอถูไถไปหมด ไม่มีหรอกครับลำโพงเล็กที่ให้เบสได้หนักหน่วง จนรู้สึกถึงพื้นกระเทือน รู้สึกถึงบรรยากาศความถี่ต่ำ ๆ ของ Carnegie Hall อย่างชัดเจน มีดีพเบสของออร์แกนท่ออย่างท่วมท้น

จะเอานักวิ่งระยะสั้น 100 เมตรมาวิ่ง 10,000 เมตร ก็อาจวิ่งถึงเส้นชัยละครับ แต่ไม่มีทางสู้นักวิ่งระยะไกลมืออาชีพเขาได้
จริง ๆ แล้วดนตรีที่ลำโพงเล็กถนัดคือดนตรีจำนวนไม่มากชิ้นนัก พวกเพลงร้อง พวกแชมเบอร์มิวสิค พวกคอนแชร์โต พวกแจ๊ส (อาจเป่งฟังได้ดีจนถึงบิ๊กแบนด์ ถ้าออกแบบมาดี ๆ พอ) ทั้งสแตนดาร์ดแจ๊สจนถึงฟิวชั่นแจ๊ส พวกใช้เครื่องดนตรีอคูสติคส์และบันทึกสดเล่นพร้อม ๆ กัน หรือแผ่นที่บันทึกมามีอิมเมจดีเป็นพิเศษ ก็เป็นแนวถนัดของลำโพงเล็กเขาล่ะ

โท-อิน หรือวางตรง
โท-อิน หรือลักษณะการวางลำโพงให้แนวแกนของลำโพงบิดเข้าด้านใน บิดเข้าหาผู้ฟัง ข้อดีการโท-อินคือสามารถลดความรุนแรงของการสะท้อนเสียงจากผนังด้านข้าง ทำให้อิมเมจปรากฏชัดเจนขึ้น หากทำได้ถูกต้องจะให้อิมเมจของเสียงร้อง เสียงดนตรีหลัก ๆ มีรูปทรง มีบอดี้เป็น 3 มิติ ไม่ใช่มีแค่ตำแหน่งเสียงแต่เหมือนกับมีแหล่งกำเนิดเสียงจริง ๆ อยู่ตรงนั้น ความกลมกลืน ความเกี่ยวโยงกันของอิมเมจของแต่ละชิ้นดนตรีก็เป็นจุดเด่นของการโท-อิน

การโท-อินยังทำให้ตำแหน่งนั่งฟังที่ได้สเตอริโออิมเมตดี ๆ กว้างขวางขึ้นจะขยับตัวซ้าย-ขวา เสียงก็จะไม่วูบวาบ เรียกว่ามี Sweet Spot กว้างขวางขึ้น
ปัญหาของการโท-อิน เกิดจากการทำได้ไม่ถูกต้องพอ ส่วนใหญ่นักเล่นจะบิดลำโพงเข้าด้านในนิดเดียว หรืออย่างมากสุดแล้วก็คือการยิงเสียงเข้าสู่หูโดยตรง แนวแกนลำโพงขวายิงเข้าหูขวา แนวแกนลำโพงซ้ายยิงเข้าหูซ้าย ซึ่งเป็นข้อที่ควรระมัดระวัง เพราะตรงยอดโดมของทวีตเตอร์นั้นมีความเพี้ยนสูงสุด เรียกว่าเป็นการโท-อินแบบกล้า ๆ กลัว ๆ

การโท-อินที่ได้ผลเต็มที่มักบิดแนวแกนของลำโพงแต่ละข้างจนเลยหูข้างนั้น ๆ ไป ให้แนวแกนของลำโพงทั้งสองข้างมาตัดกันหน้าตำแหน่งฟังประมาณ 30 – 150 ซม. ลักษณะคล้าย ๆ กับการวางไมโครโฟนบันทึกเสียงแบบ “ครอสส์ไมค์” การปรับมุมควรใช้เพลงร้องที่คุ้นเคย ใช้เสียงร้องเป็นหลัก ปรับให้เสียงร้องใกล้เคียงกับนักร้องตัวเป็น ๆ มากที่สุด

การวางลำโพงตรง ๆ ดูเหมือนจะให้ความชัดเจนของตำแหน่งเสียงได้ดีกว่า มีการแยกแยะกันเฉียบขาด ใช้ได้ดีกับแผ่นยุคใหม่ ๆ ที่บันทึกแบบมัลติแทร็คชนิดแยกกันจะบันทึกคนละครั้งคนละเสบา แล้วซาวนด์เอ็นจิเนียร์มาจับวางตำแหน่งใหม่ให้อีกที แต่กับแผ้นแสดงสดที่นักดนตรีเล่นพร้อมกันจะให้ความรู้สึกถึงความสมจริง สู้การวางแบบโท-อินไม่ได้

ความไวของลำโพงเล็ก
นักเล่นมือใหม่บางคนให้ความสำคัญกับตัวเลขความไว (Sensitivity) กันมาก เพราะเห็นเขาบอกว่ามันสัมพันธ์กับแอมป์ที่มาใช้ ความไวยิ่งสูงยิ่งดี จะได้ใช้แอมป์กำลังน้อยประหยัดสตังค์ได้

จริง ๆ ตัวเลขความไว บอกอะไรเราไม่ได้มากเลย การวัดเขาจะป้อนแรงดันขนาด 2.83 โวลต์ โดยคิดง่าย ๆ ว่าเป็นแรงดันที่ทำให้ความต้านทาน 8 โอห์มกินกำลังไป 1 วัตต์
แต่ลำโพงจริงอิมพีแดนซ์ไม่ได้อยู่นิ่งที่ 8 โอห์ม บางช่วงตกเหลือ 2 โอห์ม บางช่วงอาจสูงถึง 20 โอห์ม และมันวัดกันที่ความถี่ค่ากลางคือ 1 kHz เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนของความถี่ทั้งหมดได้

และจริง ๆ ช่วงความถี่ที่รับประทานวัตต์มากเป็นพิเศษคือช่วงความถี่ต่ำ ซึ่งเขาไม่ได้ใช้วัดความไว
ลำโพงที่มีความไวสูง ๆ ตอนเล่นดัง ๆ มักมีดุลย์น้ำเสียงค่อนมาทางกลางแหลม เนื่องจากความแข็งแรงของไดอะแฟรมไดรเวอร์ไม่เพียงพอ ส่วนลำโพงที่มีความไวปานกลางถึงต่ำมักไม่มีปัญหาดังกล่าว แต่หากความไวต่ำมากอาจให้เสียงที่ค่อนมาทางทึบ ๆ ทึม ๆ ตอบสนองสัญญาณฉับพลัน (Transient) ได้ไม่ดีนัก เนื่องจากความหนักของไดอะแฟรมและวงจรครอสส์โอเวอร์ที่มีการสูญเสียภายในสูงจากการตัดสัญญาณชัน ๆ หรือมีวงจรปรับแต่งดุลย์เสียงมากเกินไป ลำโพงพวกนี้ตรงกันข้ามกับแบบแรกที่ตอนเล่นเบากลับไม่มีรายละอียด ไม่ได้ความรู้สึก ต้องเปิดเล่นดัง ๆ เท่านั้น ถึงจะแสดงความเก่งได้

ตัวเลขความไวจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรใส่ใจมากนัก ลำโพงดี ๆ ในปัจจุบันความไวเกาะกลุ่มกันอยู่ที่ 86 – 90 dB/2.83v/m ต่ำหรือสูงกว่านี้ควรพิจารณาเรื่องดุลย์น้ำเสียง ตอนเล่นเบา-ดังเป็นพิเศษครับ

ลำโพงวางพื้น (ลำโพงใหญ่)
จริง ๆ มันมีลำโพงเล็กไม่ใช่ ใหญ่ไม่เชิง คือพวกลำโพงทรงทาวเวอร์ที่ใช่ไดรเวอร์ 6-7 นิ้ว แต่ในกรณีนี้ผมเหมาทึกทักเอาว่ามันเป็นลำโพงใหญ่ เพราะมันมีเงื่อนไขประกอบการเล่นให้ได้ดี ไม่แตกต่างกับลำโพงพวก 10 นิ้ว 3 ทาง 4 ทางมานัก

การจัดวางเรื่องสไปค์หรือทิป-โท สำหรับจิกพื้นก็เหมือน ๆ กับการใช้ขาตั้งของลำโพงเล็ก อย่าไปวางลำโพงลอยไว้บนพรม หากใช้พวกกรวยปลายแหลมทั้งหลายก็ต้องระวังการลื่นไถลของการวาง 2 เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด นักเล่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจนัก ทั้ง ๆ ที่มันมีผลต่อคุณภาพเสียงอย่างสูง ทั้งในแง่ของดุลย์น้ำเสียง เบส กลางแหลม และอิมเมจซาวนด์สเตจ

วูฟเฟอร์หลายตัวในลำโพงใหญ่
ระยะหลัง ๆ ที่โฮมเธียเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ลำโพงใหญ่แท้ ๆ ตู้ใหญ่ ๆ ล่ำ ๆ มักไม่ค่อยมีให้เห็น แต่กลับมีลำโพงทรงทาวเวอร์ที่มีวูฟเฟอร์หลาย ๆ ตัวออกมาแทน เขาว่ารูปทรงมันทันสมัยกว่า สะโอดสะองกว่า โดยให้ปริมาณเบสได้เท่า ๆ กับลำโพงพวก 10-12 นิ้ว

แต่ลำโพงพวกนี้วูฟเฟอร์ที่นำมาใช้ร่วมกัน (วูฟเฟอร์ 2 ตัวดูจะนิยมกันมากที่สุด) ส่วนใหญ่จะนิยมต่อขนานกัน ซึ่งทำให้อิมพีแดนซ์ช่วงความถี่ต่ำตกลงมาเหลือ 4 โอห์มหรือต่ำกว่า ตอนเราดูสเปคของลำโพงในเรื่องของ Impedance ก็ดูละเอียดสักนิด เช่น Nominal Impedance 8 Ohm (minimum 3.8 Ohm at 30 Hz) อย่างนี้ตอนที่เป็น 8 โอห์มนั้นไม่มีปัญหาในเรื่องของการหาแอมป์ขับ แต่ตอน 3.8 โอห์ม (ลำโพงดัง ๆ บางรุ่นตกลงเหลือแค่ 2 โอห์มเศษก็มี) นั้นมีปัญหาแน่นอน เพราะลำโพงจะดึงกระแสจากแอมป์ไปมาก ถ้าแอมป์ส่งไปไหวเราก็จะได้ความถี่ต่ำที่มีคุณภาพ แต่หากแอมป์เหี่ยวหมดแรงเสียก่อนจะถึงจุดนั้น เสียงความถี่ต่ำก็จะบาง ๆ วูบวาบ ๆ ช่วงที่ยังไหวก็มีเสียง ช่วงที่หมดแรงก็ไม่มีเสียง

ฉะนั้นหากนำลำโพงตั้งพื้นที่วูฟเฟอร์ 2 ตัว มาฟังเพลงก็ควรระวังเรื่องกำลังสำรองของแอมป์ดี ๆ นะครับ ส่วนการใช้กับโฮมเธียเตอร์คงไม่มีปัญหานัก เอวีรีซีฟเวอร์มักจะเหี่ยวไปก่อนที่จะถึงจุดวิกฤต และจะฟังออกถึงความเพี้ยนยากเพราะมีซับวูฟเฟอร์คอยกลบอยู่

อย่างไรก็ดีลำโพงบางคู่ผู้ผลิตก็ไม่ได้แจ้งอิมพีแดนซ์ต่ำสุดเอาไว้ บางทีก็ต้องไปหาตามรีวิวในหนังสือต่างประเทศที่เขาวัดผลเอาไว้ ผลที่วัดจะฟ้องออกมาเองว่าที่บอกว่านอมินอล อิมพีแดนซ์ 8 โอห์มนั้น อิมพีแดนซ์จริงมันขยุกขยุยโหดร้ายกับลำโพงแค่ไหน ในกรณีไม่มีเอกสารไม่ทราบอะไรจริง ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลำโพงวูฟเฟอร์ 2 ตัวนั้น จะมีอิมพีแดนซ์ความถี่ต่ำที่ 4 โอห์ม

ห้องสำหรับลำโพงใหญ่
ลำโพงใหญ่จะมีความถี่ต่ำที่ลงได้ต่ำลึก ความถี่ยิ่งต่ำยิ่งมีความยาวคลื่นเสียงมาก ที่ความถี่ 20 Hz นั้นมีความยาวคลื่นเสียงถึง 17.25 เมตรต่อหนึ่งรอบคลื่น ตามทฤษฏีแล้วห้องจะสามารถตอบสนองความถี่ต่ำสุดได้ขึ้นกับความเร็วของคลื่นเสียงในอากาศ (ประมาณ 345 เมตร/วินาที) หารด้วย 2 เท่าของความยาวห้อง อย่างเช่น เราต้องการให้ห้องตอบสนองความถี่ต่ำสุดลงไปได้ที่ 20 Hz (หมายถึงคลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศโดยไม่มีการสะท้อนกับผนังห้อง ในทฤษฏีนี้สมมุติให้แหล่งกำเนิดเสียงอยู่ที่ผนังห้อง และผู้ฟังอยู่ที่ผนังห้องด้านตรงกันข้าม) ต้องใช้ห้องยาวถึง 8.45 เมตร!! ระยะห่างระหว่างผนังห้องที่ขนานกันอยู่จะเป็นตัวกำหนดเรสโซแนนซ์ของห้องนั้น เช่นถ้าห้องยาว 5 เมตร นั่นหมายความว่าห้องนี้ไม่สามารถจะให้คลื่นความถี่ต่ำ ๆ ที่ต่ำกว่า 34.5 Hz ได้อย่างสมบูรณ์

การใช้ลำโพงขนาดใหญ่ในห้องขนาดเล็กจึงเป็นเรื่องของคนไม่รู้จักใช้ของ เหมือนซื้อรถสปอร์ตความเร็วสูงไปขับอยู่แถวถนนสีลม ได้แค่เท่แต่ไม่สามารถใช้งานได้ในเรื่องที่มันเก่ง

ลำโพงใหญ่ในห้องเล็กไม่เพียงแต่เป็นเรื่องสิ้นเปลือง เป็นเรื่องคนไม่รู้จักใช้ของแล้ว ผลทางเสียงก็มีปัญหาด้วย มันจะมีคลื่นความถี่ต่ำที่เกิดจากลำโพงตอบสนองลงไปได้ต่ำกว่าห้อง มันคงค้างอยู่ในห้องและกระตุ้นให้เกิดเรสโซแนนซ์ในโหมดที่สูงที่ความถี่ที่สูงขึ้นมา ฟังแล้วอึดอัดด้วยเบสหนืด ๆ เบสในห้องขาดน้ำหนักและจังหวะ
โซนที่อันตรายยากที่จะจัดการคือความถี่ในช่วงตั้งแต่ 40 Hz ลงไปเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ดีพเบสแล้ว ถ้าลำโพงตอบสนองลงไปได้ลึกเพียงพอแต่ห้องให้ไม่ได้ ลองเปิดประตูห้องดูแล้วมาฟังนอกห้องในระยะห่าง 7-10 เมตร บางทีคุณอาจจะเจอดีพเบสที่นอกห้องก็ได้

อย่างไรก็ตามในห้องที่มีการปรับอคูสติคส์ของห้องอย่างดี จะช่วยให้ห้องเสมือนหนึ่งมีความกว้าง-ยาวเพิ่มขึ้น เสมือนหนึ่งผนังห้องเลื่อนถอยห่างจากลำโพงออกไป ซึ่งจะช่วยให้ห้องขนาดกลาง (4×5-6 เมตร) สามารถสัมผัสกับดีพเบสได้

แอมป์สำหรับลำโพงใหญ่
ลำโพงใหญ่มีแบนด์วิดธ์กว้าง (กินช่วงความถี่กว้าง) แม้พวกลำโพง 3 ทางจะบอกว่ามีอิมพีแดนซ์ 8 โอห์มตลอดย่านความถี่ก็ตาม แต่ในห้วงจังหวะที่ดนตรีมีช่วงความถี่เต็มช่วง 20 Hz – 20 kHz ปลดปล่อยออกมาพร้อม ๆ กัน อิมพีแดนซ์ของลำโพงใหญ่ก็จะตกลงมาเหลือแค่สองโอห์มเศษเท่านั้น เพราะเท่ากับประตูของไดรเวอร์ทุกตัวเปิดหมดทำงานพร้อมกันหมด เหมือนกับต่อขนานไดรเวอร์กันทั้ง 3 ตัวเข้าด้วยกัน

แอมป์สำหรับลำโพงใหญ่ จึงควรเป็นแอมป์ที่มีกำลังสำรองดี มีภาคจ่ายไฟที่ทรงพลังเพียงพอสำหรับโหลดลำโพงจริง มีไดนามิคเฮดรูมสูง สามารถรักษาระดับโวลเตทเอาไว้ได้เมื่อกระแสโดนดูดไปตอนอิมพีแดนซ์ลำโพงลงต่ำ

สังเกตดูภาคจ่ายไฟของแอมป์ไฮเอ็นด์ ที่กำลังขับเท่ากันภาคจ่ายไฟของแอมป์ไฮเอ็นด์จะใหญ่กว่า จนสามารถจ่ายไฟให้เอวี รีซีฟเวอร์ถึง 3 เครื่อง!!! เท่ากับมีศักยภาพพอที่จะจ่ายกระแสให้ลำโพง 15-21 แชนแนล!!!

แอมป์ไฮเอ็นด์ส่วนใหญ่จะแจ้งสเปคฯของภาคจ่ายไฟไว้พอสมควร แต่ถ้าไม่มีก็กะดูจากน้ำหนัก เพราะน้ำหนักแอมป์ส่วนใหญ่มาจากทรานสฟอร์เมอร์ คะแปซิเตอร์ฟิลเตอร์ก็ต้องตัวใหญ่ ๆ มีข้อสังเกตว่า แอมป์ที่ใช้คะแปซิเตอร์หลาย ๆ ตัวมาขนานกัน มักจะให้เบสที่นุ่ม ๆ หนา ๆ แต่ไม่แน่นในจังหวะ ไม่ให้ความรู้สึกถึงพลังของเบสดีเท่ากับพวกใช้คะแปซิเตอร์ฟิลเตอร์ตัวใหญ่แค่ 2-4 ตัว

ดนตรีสำหรับลำโพงใหญ่
ลำโพงใหญ่อาจฟังเพลงร้องหวานแหววสู้ลำโพงเล็กไม่ได้ ทั้งความโปร่งกังวาน และการหลุดไปจากตำแหน่งตู้ลำโพงของอิมเมจ แต่กับดนตรีวงใหญ่ ๆ เครื่องดนตรีเยอะ ๆ หรือดนตรีที่มีความถี่ต่ำที่ต่ำลึกเป็นพิเศษ พวกนี้ต้องยกให้เขาเลย

สิ่งที่ควรจะได้จากลำโพงใหญ่คือ ซาวนด์สเตจที่กว้างกว่า ลึกกว่า ให้ความรู้สึกถึงขอบเขตแห่งซาวนด์สเตจได้แน่นอนกว่า เล่นได้ดังกว่า โดยมีความเพี้ยนต่ำกว่า
มีเรื่องที่จะพูดถึงความเข้าใจที่คลุมเครือ เรื่องชนิด “เสียงเขาว่า” มาอีกมากมาย แต่ต้องติดไว้ในคราวต่อ ๆ ไป หรือต้องไปลุ้นให้ บ.ก.ใหญ่ท่านเขียนเรื่อง “ความขัดแข้งที่ไม่รู้จบ” ภาคต่อ ๆ มา ออกมาครับ

 

สาระสเตอริโอ ก่อนเลือกลำโพง
โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ