Stereo Advice การจัดชุดเครื่องเสียง

Stereo Advice การจัดชุดเครื่องเสียง

โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ

วิธีการจัดชุดเครื่องเสียงมีเกณฑ์ (จริง ๆ คือข้อจำกัด) ในการเลือกเครื่อง ลำโพง ตลอดจนอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อยู่หลายเรื่อง บางคนก็เน้นที่งบประมาณที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้เลย บ้างก็รูปลักษณ์ต้องมาก่อน ตั้งโจทย์ไว้ล่วงหน้า ขนาดเจอลำโพงที่ให้เสียงถูกอกถูกใจทุกอย่าง
แต่ไม่ซื้อเพราะเขาไม่มีสีดำเปียโน! หรือบางคนก็ตีกรอบไว้เลยว่าต้องลำโพงตั้งพื้นเท่านั้น ตัวเล็ก ๆ บาง ๆ บางบนขาตั้งไม่ชอบ
อีกหลายคนเน้นเรื่องทางเทคนิค กำลังขับ อิมพีแดนซ์ การแม็ทชิ่งกัน กราฟตอบสนอง อีกสารพัดตัวเลข ส่วนใหญ่ที่อยากไปทางลัดก็ไปถามเซียนพวกคอลัมนิสต์ นักเขียน นักทดสอบทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เขาเหล่านี้มักจะมีสูตรสำเร็จในการจัดชุดอยู่ ต่างคนก็ต่างสไตล์ ที่สำคัญแต่ละคนล้วนแต่ “อีโก้ (Ego) สูงมั่ก ๆ ”

ดูเหมือนทุกคนจะลืมเรื่องสำคัญไปอย่างหนึ่ง นั่นคือเราซื้อเครื่องเสียงมาสำหรับฟังดนตรี และการฟังของแต่ละคนนั้นมีความชอบ (Preference) ไม่เหมือนกัน

นักเล่นเครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ ทุกคนต่างมีความชอบส่วนตัวในเรื่องของการฟังทั้งสิ้น ขึ้นกับว่าใครจะชื่นชอบเอนเอียงในทางหนึ่งทางใดมากกว่ากัน ลักษณะความชื่นชอบและชุดเครื่องเสียงที่เหมาะสมกับความชื่นชอบนั้น ๆ พอแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้

1. Music lover

คือนักเล่น นักฟังที่มุ่งเสพย์ความไพเราะของดนตรีเป็นหลัก นักฟังกลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมิตรรักแฟนเพลงของศิลปินที่เขาชื่นชอบ
มิวสิค เลิฟเวอร์พันธุ์แท้ จะรู้ลึกไปกว่านักเล่นนักฟังทั่ว ๆ ไป เช่น อัลบั้มไหนออกมาเมื่อไร เข้าวงการอายุเท่าไร บางทีถึงขนาดเจาะลึกไปถึงเป็นใครมาจากไหน หรือลูกเต้าเหล่าใครไปโน่นเลย แน่นอนว่าเขาชื่นชอบผลงานของศิลปินนั้น ๆ อย่างจริงใจ เขาชอบเนื้อแท้ของงานดนตรีที่เป็นศิลปะ แม้บางครั้งการบันทึกเสียงไม่ดีนักหรือไม่ดีเลย แต่เขาก็สามารถฟังได้ นักเล่นกลุ่มนี้จะไม่เน้นเรื่องของเทคนิคมากนัก คุณสมบัติของเครื่องหรือลำโพงที่เหมาะสมควรจะมีคุณสมบัติดังนี้

Compromise : เป็นมิตรกับเครื่อง ลำโพง หรือแผ่นที่จะมาเล่นด้วย ไม่ยุ่งยากในการจัดเข้าชุด เล่นกับแผ่นได้หลากหลาย ทั้งแผ่นบันทึกดี ๆ และแผ่นบันทึกไม่ดีก็สามารถเล่นได้ให้ความไพเราะไม่ขี้ฟ้องจนเกินไป เรียกว่าลดดีกรีการให้ความแตกต่างของคุณภาพในการบันทึกเสียงลงไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดที่ใส่แผ่นดีแผ่นไม่ดีเข้าไปเสียงก็ออกมาแย่เหมือนกันหมด
เราสามารถทดสอบคุณสมบัติดังกล่าวได้โดยใช้แผ่นเพลงที่เราชื่นชอบแต่บันทึกเสียงไม่ดี มาทดลองฟังดูว่าคุณภาพเสียงพอรับได้หรือไม่

Tonal balance : ดุลย์น้ำเสียงที่ราบเรียบ ไม่โด่งหรือตกวูบลงไปในช่วงความถี่ใดความถี่หนึ่งจนเกินไป โดยยอมให้โดดเด่นไปด้านใดด้านหนึ่งบ้าง เช่นค่อนมาทางทุ้มหรือแหลมได้บ้าง
ในความเป็นจริงไม่มีเครื่องหรืออุปกรณ์เครื่องเสียงตัวใดในโลกให้เสียงได้ราบเรียบจริง (จากการฟัง) แม้ว่าในเครื่องมืดวัดอาจจะไม่พบความแตกต่างกันเลยก็ตาม
โทนัลบาลานซ์ที่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งบ้างจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ ตรงกันข้ามมันสามารถเพิ่มเสน่ห์ให้กับเครื่องหรือลำโพงนั้น ๆ ได้ อย่างลำโพงที่ค่อนมาทางกลางต่ำอย่างลำโพงมอนิเตอร์ของ BBC รุ่น LS 3/5A หรือค่อนมาทางแหลมใส ๆ อย่าง PraAc Tabblette ในอดีต หรือแอมป์หลอดฯตัวดัง ๆ ก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีดุลย์น้ำเสียงที่ราบเรียบแต่ประการใด

Easy on ear : ฟังง่าย ไพเราะถูกหู อาจไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก อาจไม่สามารถให้ความแตกต่างระหว่างแผ่นที่บันทึกมาดีกับแผ่นที่บันทึกมาไม่ดี อาจเติมบางช่วงความถี่เข้าไปให้ฟังและรู้สีกนุ่มนวลเป็นพิเศษกับทุก ๆ แผ่น

Warm : ให้เสียงที่อบอุ่น นุ่มหนา ไม่แห้งหรือบาง อย่างที่คนเรียกว่าสไตล์หลอดฯ ดุลย์น้ำเสียงค่อนมาทางทุ้มนิด ๆ กลางต่ำหน่อย ๆ จะช่วยให้เสียงดนตรีโดยรวมฟังอบอุ่นขึ้น ลักษณะดังกล่าวจะช่วยชดเชยหรือกลบเกลื่อนหรือบดบังช่วงกลางสูงหรือสูงที่โด่งขึ้นหรือแข็งกร้าวขึ้นจากสภาพอคูสติคส์ที่ไม่เหมาะสมได้บ้าง และทำให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องตำแหน่งของลำโพงมากขึ้น

Lay back :ให้ตำแหน่งของกลุ่มของเสียงที่ถอยลึกไปด้านหลังลำโพง มีความลึกของซาวนด์สเตจ ฟังผ่อนคลาย ตรงกันข้ามกับเครื่องลำโพงที่ให้เสียงในรูปแบบดันมาข้างหน้า(Forward) ซึ่งจะให้ความรู้สึกที่จริงจัง เร่งเร้า
นักเล่นที่ไม่คุ้นเคยกับการฟังชุดเคคื่องเสียงที่ให้สเตอริโออิมเมจได้ดี ๆ มักตกอกตกใจเมื่อมาเจอชุดเครื่องเสียงที่ให้สมรรถนะได้ดี ๆ บางคนถึงขนาดเดินไปดูด้านหลังลำโพงคู่ที่เปิดใช้งานอยู่ว่าเสียงออกมาจากไหน บางคนก็ถามเอาดื้อ ๆ “พี่ ๆ ทำไมเสียงมันถอยไปด้านหลังขนาดนั้นเลยหรือ?”

คุณสมบัติข้อนี้ค่อนข้างหาเครื่องเสียงหรือลำโพงยากสักหน่อย เพราะการที่จะทำให้เสียงถอยลึกลงไป (อิมเมจด้านลึก) นั้นไม่ใช่แค่กดเสียงกลางไว้แล้วมันจะถอยหลังไป เครื่องและลำโพงต้องให้อคูสติคส์เฟสที่ต่อเนื่องกลมกลืนกันด้วย

2. AV lover

คือผู้หลงใหลในภาพและเสียงในรูปแบบโฮมเธียเตอร์ ซึ่งเครื่องหรือลำโพงที่จะนำมาใช้ควรมีคุณสมบัติดังนี้

• Excitement : ให้ความตื่นเต้น เร้าใจ ด้วยระดับความดังและความฉับพลันทันที

• Bass : ให้ความรู้สึกใหญ่โต โอ่อ่า มีพลัง สามารถตอบสนองหรือรองรับกับไดนามิคเรนจ์ที่กว้างได้ดี

• Treble : ให้ความสดใส คมชัด มีรายละเอียดครบถ้วน

• Loud/frequency limit : ตอบสนองตาอระดับความดังสูง แต่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต่ำได้ต่ำลึกมากนัก เพราะมีซับวูฟเฟอร์เป็นตัวรับภาระอยู่แล้ว

• Appearance : รูปลักษณ์สวยงาม มีดีไซน์ เข้ากับการตกแต่งบ้านได้ดี ในทางการค้าบริษัทผู้ผลิตลำโพงพยายามแบ่งลำโพงดูหนังกับฟังเพลงออกจากกัน ในโลกแห่งความเป็นจริงนักเล่นส่วนใหญ่จะใช้ลำโพงร่วมกันทั้งดูหนังและฟังเพลง ลำโพงที่ใช้ฟังเพลงได้ดี มักใช้ดูหนังได้ดีด้วย แต่ลำโพงที่โฆษณาว่าสำหรับดูหนังหรือโฮมเธียเตอร์โดยเฉพาะมักใช้ฟังเพลงได้ไม่ดีเท่าที่ควร และไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความไวสูง เน้นเบสส์และแหลมกว่าปกติ

การเลือกลำโพงดูหนังที่ให้ผลจึงมักเลือกโดยพื้นฐานของการใช้ฟังเพลงหรือดนตรีเป็นหลักในการเลือก กระทั่งลำโพงเซอร์ราวนด์ก็ควรทดลองใช้ฟังดนตรีในรูปแบบ 2 แชนแนลก่อนการตัดสินใจ

3. Reality

คือนักเล่นที่แสวงหาความจริง ไม่ยอมให้มีการกลบเกลื่อนบิดเบือน หรือประนีประนอมในสมรรถนะ เป็นเครื่องหรือลำโพงที่พร้อมจะเปิดเผย สมรรถนะที่แท้จริงของอุปกรณ์หรือแผ่นที่จะนำมาใช้งานด้วย กลุ่มนี้เป็นนักเล่นที่ไม่กลัวความจริง ถามว่าสนุกตรงไหนกับการใช้เครื่องหรือลำโพงที่เปิดเผยทุกอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋ เขาก็ตอบว่าเมื่อเราใช้แผ่นดี ๆ เล่นกับชุดเครื่องเสียงแบบนี้ มันจะให้สมรรถนะที่สุดยอด เราจะดื่มด่ำ หลงใหล เคลิบเคลิ้มเข้าถึงดนตรีมากกว่าที่เคยเจอ ขณะที่หากเจอแผ่นไม่ค่อยดีมันก็จะบอกเราว่ามันไม่ดีอย่างไร ในความไม่ดีมีดีอะไรแฝงอยู่ ไม่ใช่ใส่แผ่นดีหรือไม่ดีเข้าไปมันก็ให้เสียงออกมาถูกใจถูกหูไปหมด เครื่องหรือลำโพงสำหรับนักเล่นกลุ่มนี้ควรมีคุณสมบัติพิเศษดังนี้

• Transparent/ Clarity : ความโปร่งใส ความบริสุทธิ์ ที่ไม่มีเมฆหมอก ที่เกิดจากความผิดเพี้ยนของเครื่องหรือลำโพงมาบดบัง ปล่อยให้สัญญาณดนตรีผ่านออกมาได้อย่างปราศจากการบิดเบือน ใสทีนี้ไม่ใช่เรื่องของดุลย์น้ำเสียง ไม่เกี่ยวกับเสียงบาง เสียงหนา นักเล่นหลายคนมักโยง 2 เรื่องนี่เป็นคนละเรื่องกันมาเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ได้ความหมายที่บิดเบือนไป ใสในที่นี้อาจบาง อาจอวบ อาจหนา อ้วน หวาน สด เป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะใสคือไม่มีอะไรไปเจือปนสมถรรนะแท้ ๆ ของเครื่องและลำโพง

• Accuracy : ความถูกต้อง เที่ยงตรง ทั้งเรื่องระดับความดัง รายละเอียด และการตอบสนองความถี่ ระดับความดังต้องมีลิเนียริตี้ (Linearity) มีการแปรเปลี่ยนระดับความดังที่ได้สัดส่วน รับรู้ถึงสัญญาณเบา ๆ ได้เบากว่าเคย รับฟังสัญญาณดัง ๆ ได้ดังกว่าเคยโดยปราศจากความผิดเพี้ยน มีรายละเอีดที่มากมายทุกย่านความถี่ มีการตอบสนรองความถี่ที่ราบเรียบในทุกสถานการณ์

• Dynamic : คือการเปลี่ยนแปลงระดับความดังอย่างรวดเร็ว ตามลักษณะของเสียงดนตรีจริง ๆ เป็นลักษณะเสียงที่ให้ความรู้สึกสด สมจริง

• Detail : รายละเอียดที่สามารถจำแนกแยกย่อย ทั้งเรื่องของการแบ่งระดับความดัง เรื่องของความถี่และฮาร์โมนิคได้เหนือกว่าเครื่องหรือลำโพงในระดับทั่ว ๆ ไป

• Scale : เรื่องของสัดส่วนเครื่องหรือลำโพง จะต้องจำลองขนาดของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นลงมาอย่างถูกต้อง เช่น ฟังแล้วต้องรู้สึกว่าขนาดของไวโอลีนต้องเล็กกว่าขนาดของเชลโลหรือดับเบิ้ลเบสส์ เป็นต้น นอกจากนั้นเรื่องของสเกลยังเป็นเรื่องของสัดส่วน ระหว่างความกว้างกับความลึกของซาวนด์สเตจ ควรมีความรู้สึกถึงขอบเขตของซาวนด์สเตจทั้งด้านกว้างและด้านลึกที่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและถูกต้อง ไม่ใช่มีแต่มิติด้านกว้างหรือด้านลึกเวิ้งว้างออกไปแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

• Frequency range : เรื่องของการตอบสนองความถี่ที่มีความพิเศษกว่าการเล่นการฟังแบบอื่น ๆ

• Real Bass Extension : ความถี่ต่ำที่ต้องตอบสนองลงไปได้ต่ำลึกอย่างเป็นอิสระ ไม่มีการจำกัดความลึกไว้แบบเบสส์ในโฮมเธียเตอร์

• Real High Extension : ความถี่สูงต้องตอบสนองได้เลย ระยะการได้ยินของหูมนุษย์หรือว่าย่านความถี่ออดิโอเพิ่มความสดให้กับระบบเพิ่มความถูกต้องทั้งเรื่องของรายละเอียดของฮาร์โมนิค และความต่อเนื่องทางเฟสของสัญญาณในย่านออดิโอ

4. Multi-Purpose ลำโพงแบบใช้งานเอนกประสงค์

• Utility : สามารถใช้งานได้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายขึ้น เป็นทั้งใช้ดูหนัง ใช้ฟังเพลง ใช้สำหรับคาราโอเกะ ใช้สำหรับเปิดเป็นแบ็คกราวนด์มิวสิค เป็นต้น

• Flexibility ความสะดวกสบายและเอื้ออำนวยต่อการนำไปใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งง่ายต่อการเซ็ทอัพเข้ากับระบบด้วย มาถึงตรงนี้จะเห็นว่ามีชุดเครื่องเสียงที่ให้เสียงได้ดีแต่มีหลากหลายแบบ ไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีใครดีที่สุด ฉะนั้นการนำแผ่นเพลงแค่สองสามแผ่น สี่ห้าเพลงมาตัดสินว่าชุดของใครดีกว่ากัน จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการกระทำของคนที่ขาดความมั่นใจด้วยกันเท่านั้น

การเลือกชุดเครื่องเสียงที่น่าจะได้ประโยชน์และถูกต้องตรงประเด็นมากที่สุดคือการเลือกตามความชอบของผู้ใช้นั่นเอง