Stereo Advice ลำโพงเล็ก

Stereo Advice ลำโพงเล็ก

โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ

ลำโพงเล็กคู่ละหลายหมื่น หลายแสน หรืออาจถึงหลักล้านบาท เรื่องราคาถูกหรือเรื่องระหยัดคงไม่ใช่ประเด็น
ถ้าอย่างนั้นลำโพงเล็กราคาไม่ธรรมดาเหล่านั้นมีดีอะไรถึงมัดใจผู้เล่น
โดยไม่กังวลว่าพรรคพวกเพื่อนฝูงจะแซว
“แหม…ลำโพงคู่นี้ของพี่ไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวแล้วจะซื้อได้นะ?…”
“…มันต้องมีความโง่ด้วย!!”

ที่ควรได้

แม้มีข้อจำกัดด้านความถี่ต่ำที่อาจทำให้ขนาดของซาวนด์สเตจ ระดับความดัง ความเต็มอิ่มของเสียงกับดนตรีบางประเภทนั้นสู้ลำโพงใหญ่ไม่ได้ แต่ข้อดีของลำโพงเล็กชั้นดีที่ลำโพงใหญ่ ๆ ทำไม่ได้คือ สมรรถนะทางด้านการให้สเตอริโออิมเมจที่ชัดเจนเป็นอิสระ ตำแหน่งของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นหรือตำแหน่งของเสียงร้อง จะปรากฏขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของห้องฟัง เป็นอิสระไปจากตำแหน่งลำโพง เหมือนเสียงไม่ได้ออกมาจากลำโพง แต่มันดังขึ้นมาเองในอากาศ ในที่ว่างรายรอบลำโพง ตำแหน่งของเสียงอาจถอยหลังลึกไปจากแนวของตู้ลำโพงหลาย ๆ เมตร บางครั้งเหมือนเสียงนั้นดังมาจากนอกห้องฟังด้วยซ้ำไป ความเป็นอิสระของตำแหน่งเสียงนี่เองที่เป็นจุดเด่นพิเศษของลำโพงเล็ก นอกจากนั้นความโปร่ง ความสะอาด ความกังวาน ความคึกคักสดใส รวมทั้งความกลมกลืนของเสียงในช่วงกลางแหลมก็เป็นจุดเด่นของลำโพงเล็กอย่างยากที่ลำโพงใหญ่ ๆ ทั่วไปจะสู้ได้

ข้อดีในความเล็ก

นักเล่นผู้มีประสบการณ์ท่านหนึ่งเคยบอกว่า “ความมหัศจรรย์มักมีในลำโพงเล็กเสมอ…”
ในความเล็กของลำโพงเล็กนั้นมีข้อได้เปรียบ มีผลพลอยได้จากความเล็กอยู่หลายประการ ซึ่งล้วนแต่ส่งเสริมให้บรรลุถึงคำว่า “มหัศจรรย์”

การกระจายเสียงแนวราบ

ลำโพงเล็กจะมีตู้ลำโพงขนาดเล็ก (แหงล่ะ) มีแผงหน้าตู้ที่แคบ ไม่เกะกะการกระจายเสียงทางด้านข้าง เสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาจากไดรเวอร์สามารถกระจายออกไปรอบตัวตู้ลำโพง (กระจายเสียงแบบ 4Л) ตู้ลำโพงที่กว้าง 160 มม. ความถี่ที่ 4,312 Hz ลงมา เริ่มกระจายออกไปรอบตัวตู้ได้ ขณะที่ตู้ลำโพงที่กว้าง 300 มม. ความถี่ที่เริ่มกระจายออกรอบตัวตู้เลื่อนลงมาอยู่ที่ 2,300 Hz นั่นหมายความว่าความถี่ 2,300 Hz ขึ้นไปจะโดนหน้าตู้บังไว้ คลื่นเสียงบางส่วนจะสะท้อนกับผนังหน้าตู้ออกมาผสมกับคลื่นเสียงที่ออกมาจากไดรเวอร์โดยตรง กลายเป็นความเพี้ยนที่เรียกว่า Comb Filter Effect ทำให้การตอบสนองความถี่ไม่ราบเรียบ มีระดับความดังขึ้น ๆ ลง ๆ แปรไปตามความถี่คล้าย ๆ ซี่ของหวี ถ้าเกิดขึ้นในช่วงความถี่ที่หูคนเราไวกับการเปลี่ยนแปลง (ช่วง 2-4 kHz) ก็จะฟังออกในลักษณะเสียงที่ไม่สะอาด คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่เป็นธรรมชาติ
ลำโพงเล็กจึงได้เปรียบในเรื่องของการกระจายเสียง ได้อิสระรอบตู้ลำโพงในช่วงความถี่ที่สูงกว่าลำโพงใหญ่ ทำให้มีความเพี้ยนต่ำกว่าในช่วงเสียงกลาง พวกลำโพงแผ่นที่ไม่มีแผงหน้าตู้จะให้เสียงกลางได้แจ่มกระจ่างเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีปัญหาการสะท้อนเสียงกับแผงหน้าตู้นั่นเอง หน้าตู้ที่แคบยังเลื่อนความถี่ที่เกิดจากการหักเหของคลื่นเสียงบริเวณขอบตู้ (Diffraction) ให้ขึ้นไปอยู่เลยย่านเสียงกลางที่หูฟังออกง่ายถึงความเพี้ยน ส่วนความถี่สูง ๆ กว่านั้นจะมีพลังงานต่ำ การเดินทางแผ่ออกด้านข้างก็น้อยลง ดิฟแฟร็คชั่นหรือการหักเหของเสียงบริเวณขอบตู้อย่างกะทันหันจะทำให้เกิดเสียงรบกวนขึ้น เหมือนกับมีแหล่งกำเนิดเสียงใหม่เกิดขึ้นบริเวณนั้น การลบเหลี่ยมตู้รอบ ๆ ไดรเวอร์ก็เพื่อลดการหักเหของคลื่นเสียงอย่างกะทันหันให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป

เกี่ยวกับขนาดของตู้ลำโพงกับการกระจายเสียงนี้ เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สาเหตุที่ลำโพงเล็กให้เสียงร้องของเพลงร้องได้ใกล้เคียงเสียงคนมากกล่าลำโพงใหญ่ ก็เพราะตู้ลำโพงมีขนาดใกล้เคียงกับศีรษะคน ทำให้มีการกระจายเสียงคล้าย ๆ กัน ความเพี้ยนต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นที่ความถี่ใกล้ ๆ กัน ลำโพงเสียงร้องเสียงพูดอย่างเดียวน่าจะมีคนลองออกแบบตู้ให้มีรูปทรงเหมือนหน้าคนนะครับ มีจมูก มีตา มีใบหู อาจทำให้เสียงร้องเหมือนจริงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้

ความแข็งแรงของตู้

ความดีในความเล็กข้อนี้มาจาก ผนังตู้แต่ละด้านที่แคบและมีพื้นผิวน้อยเป็นพิเศษ ทำให้รับแรงที่จะมากระทำกับตัวตู้ (ทั้งจากในตู้และนอกตัวตู้) น้อยตามไปด้วย
จะหักหรืองอไม้บรรทัดขนาด 1 ฟุตด้วยมือไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากมันหดเหลือ 2 นิ้ว เราจะพบว่ามันแข็งขึ้นมาอีกเยอะเลย ทั้ง ๆ ที่วัสดุก็เป็นวัสดุเดิม ตู้ยิ่งเล็กเท่าไรผนังตู้ยิ่งมีค่าความต้านทานต่อแรงตัด (Modulus of Rupture) สูงขึ้นเท่านั้น ลำโพงเล็กชั้นดี ยังคงใช้ผนังตู้ที่หนาใกล้เคียงหรือหนากว่าลำโพงขนาดกลางหรือใหญ่ด้วยซ้ำไป แถมด้วยการคาดดามโครงภายในตู้อย่างไม่ยอมให้ผนังตู้สั่นไหวได้เลย อัตราส่วนความแข็งแรงของตัวตู้ต่อแรงที่มากระทำจากไดรเวอร์ขนาดเล็กนั้นสูงกว่าลำโพงขนาดที่ใหญ่ขึ้น ผนังตู้ผืนใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ไดรเวอร์ตัวใหญ่ ๆ มีแรงที่ส่งถึงตัวตู้ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้อัตราส่วนความแข็งแรงของตู้ลำโพงต่อแรงที่มากระทำของลำโพงที่ใหญ่นั้นแย่ลงไป ตัวตู้ที่แข็งแรงที่เป็นผลพลอยได้จากโครงสร้างขนาดเล็กนี้ ทำให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานอยู่บนฐานที่มั่นที่นิ่งสนิท เหมือนกล้องถ่ายรูปที่อยู่บนขาตั้งกล้องที่แข็งแรง มั่นคง สภาพที่แสงน้อย ๆ ภาพที่ออกมาก็ชัดเจนเป็นธรรมชาติกว่าการถ่ายด้วยมือ ตู้ลำโพงที่เล็กแต่แข็ง (แรง) จึงเป็นปัจจัยบวกที่ได้เสียงสะอาดปราศจากเสียงของตัวตู้ ได้รายละเอียดของสัญญาณเบา ๆ ดีขึ้น เท่ากับเพิ่มไดนามิคเรนจ์ให้กับระบบ ที่สำคัญตัวตู้ที่นิ่งทำให้ตำแหน่งเสียงนิ่งตามไปด้วย

การกระจายเสียงแนวดิ่ง

ตั้งแต่สมรรถนะทางด้านอิมเมจและซาวนด์สเตจเป็นคุณสมบัติใหม่ของลำโพงถูกพูดถึงเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้ว รูปทรงของลำโพงก็เปลี่ยนไป จากหน้าแป้น ๆ หน้าตู้กว้าง ๆ รูปทรงแบน ๆ ก็มาเป็นตู้แบบหน้าแคบ แต่มีความลึกของตัวตู้เพิ่มขึ้น เป็นที่รู้กันดีว่าหากอยากได้อิมเมจดี ๆ หน้าตู้แคบ ๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แต่สำหรับลำโพงขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นลำโพงทรงทาวเวอร์ที่ใช้วางพื้นโดยตรง จะบีบหน้าตู้แค่ไหนก็ทำได้เฉพาะด้านข้างหรือในแนวราบ (Horizontal) เท่านั้น แผงหน้าตู้บริเวณด้านล่างของไดรเวอร์ลงมาจนถึงพื้นที่ยังคงเกะกะการกระจายเสียง ทำให้เกิด Diffraction และทำหน้าที่สะท้อนเสียงส่วนเกินเข้ามารบกวนอยู่ดี ลำโพงเล็กดี ๆ จึงคู่กับขาตั้งลำโพงดี ๆ ขาตั้งลำโพงดี ๆ ควรมีความแข็งแรงสูง แต่ควรมีความโปร่งพอสมควร ตัวขาไม่ควรจะใหญ่กว่าหน้าตู้ลำโพง เพื่อการกระจายเสียงลงมาด้านล่างจะเป็นอิสระมากขึ้น การใช้ลำโพงเล็กดี ๆ ไปวางบนหิ้งหนังสือหรือบนไซด์บอร์ด จึงเป็นเรื่องไม่ควรทำ นอกจากจะเป็นการใช้ของผิดประเภท ผิดวิธีแล้ว อาจถูกข้อกล่าวหาว่า ไม่มีรสนิยมและเล่นไม่เป็น

เล็กจึงแข็ง

ในความเล็กของลำโพงเล็ก ซึ่งต้องใช้ไดรเวอร์ เบส/มิดเรนจ์ขนาดเล็ก จากกระบอกวอยซ์คอยล์จนถึงขอบลำโพง (Surround) จะมีระยะสั้นกว่าไดรเวอร์ขนาดใหญ่ทั้งที่ใช้วัสดุเดียวกัน ฉะนั้นในความหนาแน่นเท่า ๆ กัน ไดอะแฟรมของไดรเวอร์ขนาดเล็กจะมีความแข็งแรงสูงกว่า สามารถต้านต่อแรงที่จะมาทำให้ผิดรูปทรงได้ดีกว่า ความแข็งแรงของไดอะแฟรมเป็นสิ่งจำเป็นอันดับหนึ่งของการออกแบบไดรเวอร์ ไม่งั้นคงไม่มีไดอะแฟรมที่ทำจากโลหะจนไปถึงเพชรโน่นเลย แต่ไม่ใช่แข็งอย่างเดียวแล้วจะได้ดีนะครับ มีข้อแม้ว่ามันต้องมีน้ำหนักเบา และต้องมีเรสโซแนนซ์ในตัวเองต่ำด้วย ความแข็งแรงจากขนาดที่เล็กของไดอะแฟรมทำให้ไดอะแฟรมในลำโพงเล็กขยับตัวได้ใกล้เคียงอุดมคติมากขึ้น นั่นคือไดอะแฟรมทั้งส่วนในและส่วนริม ๆ ด้านนอกขยับตัวพร้อมกันเป็นแผ่นผืนเดียวกัน ขณะที่ไดอะแฟรมขนาดใหญ่จะมีการขยับตัวด้านในล่วงหน้าไปก่อน ด้านนอก ๆ จึงเคลื่อนตัวตามหลัง ทำให้เกิดสัญญาณรบกวน อันเกิดจากการเกิดเรสโซแนนซ์แบบวงแหวน (Concentric Resonance) ขึ้นบนกรวย เรสโซแนนซ์ชนิดนี้จะเกิดขึ้นที่ความถี่สูง ๆ เกิดเป็นสัญญาณรบกวนช่วงความถี่แคบ ๆ โด่งปรี๊ดขึ้นมา ความไม่แข็งของไดอะแฟรม (ขนาดใหญ่ ๆ ) ยังเกิดการบิดตัวเสียรูปทรงที่ทำให้เกิดความเพี้ยนอีกชนิดหนึ่ง คราวนี้มาเพี้ยนที่ช่วงความถี่ต่ำ ๆ นั่นคือการผิดรูปกรวยแบบ bell mode

ไดอะแฟรมชนิดโดมก็มีความเพี้ยนที่แปรผันไปตามขนาดเช่นกัน ถ้าเป็นวัสดุเดียวกันโดมขนาดใหญ่มีโอกาสเกิดความเพี้ยนบริเวณยอดโดมสูงกว่าโดมขนาดเล็ก
เมื่อไดอะแฟรมเริ่มขยับตัวไปตามความถี่เสียงนั้น ไดอะแฟรมแบบโดมกับแบบกรวย (Cone) มีจุดเริ่มขยับคนละจุดกัน กรวยเริ่มขยับจากด้านในของไดอะแฟรมเพราะวอยซ์คอยล์แปะติดกับกรวยอยู่ด้านใน ถือเป็นจุดออกสตาร์ทในการสร้างคลื่นเสียงขึ้นในอากาศ ส่วนโดมเริ่มขยับตัวจากด้านนอกโดม โดมยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ยิ่งมีการยุบตัวบริเวณยอดโดม (เนื่องจากไม่สามารถขยับตัวได้ทันด้านนอก) มากขึ้นเท่านั้น การยุบตัวทำให้คลื่นเสียงบริเวณรอบ ๆ โดมกับยอดโดมมีเฟสแตกต่างกัน จังหวะเวลาที่ถูกต้องตามคลื่นเสียงจริง ๆ จึงอยู่บริเวณรอบ ๆ นอกของโดม ไม่ใช่ในแนวแกนหรือตรงยอดของโดม ยอดโดมมีทั้งความเพี้ยนในจังหวะเวลาที่ถูกหน่วงเอาไว้ และยังมีสัญญาณรบกวนเนื่องจากการสะบัดตัว เนื่องจากความแข็งแรงไม่พอของตัวโดม การนั่งฟังเสียงของทวีตเตอร์บริเวณริม ๆ หรือขอบโดม จึงมีความถูกต้องเที่ยงตรงกว่า การฟังในแนวแกนของทวีตเตอร์เป๊ะ ๆ ลำโพงที่เน้นสมรรถนะด้านอิมเมจอย่าง Spica, Thiel, Wilson Audio พวกนี้ จึงติดตั้งทวีตเตอร์เอียงขึ้น เพื่อใช้เสียงจากตำแหน่างที่ดีที่สุดของโดม ความคึกคัก สดใส ชัดเจน ความมีชีวิตชีวาจากลำโพงเล็ก ส่วนหนึ่งก็มาจากความเล็กและมีความแข็งแรงสูงของไดอะแฟรมนั่นเอง

เล็กจึงไปได้สูง

ไดอะแฟรม เบส/มิดเรนจ์ขนาดเล็กในลำโพงเล็ก มีน้ำหนักชุดเคลื่อนไหวที่เบากว่า ทำให้สามารถตอบสนองความถี่ขึ้นไปได้สูงกว่าไดอะแฟรมขนาดใหญ่ ผู้ออกแบบมีอิสระในการเลือกจุดตัดแบ่งความถี่ได้มากกว่า (ลำโพง 2 ทางที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่) เสียงกลางเสียงนักร้อง และเสียงเครื่องดนตรีส่วนใหญ่จึงออกมาจากไดรเวอร์ตัวเดียว ทำให้มีความกลมกลืน ความลื่นไหลดีกว่า ทวีตเตอร์เพียงมาต่อยอดความถี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแค่ฮาร์โมนิคส์ของเสียงหลักเท่านั้น ลำโพงเล็กส่วนใหญ่จึงวางจุดตัดแบ่งความถี่ไว้สูง (3-4.5 kHz) กว่าลำโพงวางพื้น ก็เพื่อใช้ความเล็กของเบส/มิดเรนจ์ที่ตอบสนองความถี่ได้สูง ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่นั่นเอง

เล็กจึงสบายตา

อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเสียงสักเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกที่มารบกวนสมาธิของการฟัง ลำโพงเล็กเมื่อจัดวางในห้องฟังแล้วจะไม่เกะกะสายตาเท่าลำโพงใหญ่ มีที่ว่างระหว่างลำโพงด้านข้าง ๆ และด้านหลังลำโพง ให้อิมเมจไปสถิตอยู่ เมื่อนั่งลงฟัง (ดูไปด้วย) ลำโพงเล็กจะให้ปรากฏการณ์มหัศจรรย์เรื่องอิมเมจ เรื่องตำแหน่งเสียงนี่ถอยห่างไปจากตำแหน่งลำโพงได้เหนือกว่าลำโพงขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะลำโพงใหญ่จะเกะกะ ขวางหู ขวางตา ยิ่งในห้องเล็ก ๆ ด้วยแล้ว มันมักดูน่ากลัวมากกว่าน่ารัก

เลือกลำโพงเล็ก

อยากได้ แอมป์หลอดฯที่เบสดี ๆ
อยากได้ ลำโพงใหญ่ที่สุดยอดด้านอิมเมจ
อยากได้ ลำโพงเล็กที่เบสลึกเกินตัว

เหล่านี้เป็นความอยากของผู้ที่ “ไปไม่สุด” คือมีความกล้า ๆ กลัว ๆ ยังไปไม่ถึงจุดเด่น ก็กังวลกับจุดอ่อนเสียแล้ว การเลือกลำโพงเล็กที่น่าจะถูกต้องที่สุดก็คือ การเลือกโดยมอง “งาน” ที่ลำโพงเล็กถนัด นั่นคือ อิมเมจ ความสด ความใส และความสดใส คึกคัก กระฉับกระเฉง อย่าหลงประเด็นสละจุดเด่น เฟ้นหาจุดด้อย

เบสเกินตัว

ลำโพงเล็กที่ออกแบบมาให้เบสสะดุดหูฟังแล้วรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ จริง ๆ มักมีแค่อัปเปอร์เบส (80-160 Hz) ที่มีปริมาณมากกว่าความถี่ช่วงอื่น ๆ เท่านั้น เบสอวบ ๆ หนา ๆ มีมาเพื่อปลอบขวัญคนกลัวไม่มีเบส แต่หากจะฟังเบสจริง ๆ เบสที่มีรายละเอียด เบสที่ให้ความรู้สึกถึงความฉับพลัน รู้สึกถึงขนาดลำโพงพวกนี้มักทำได้ไม่ดีนัก แต่หลาย ๆ คนก็จะชอบลำโพงเสียงแบบนี้

BBC Dip

หากใครเคยอ่านบททดสอบลำโพงของหนังสือต่างประเทศ อาจเคยเห็นการพูดถึงลักษณะการตอบสนองความถี่ที่เรียกว่า “BBC Dip” หรือ Gundry Dip
Dip ในที่นี้หมายถึงช่วงการตอบสนองความถี่ที่ตกลงมาจากระดับความดังปกติ (ตรงกันข้ามกับ Peak คือการโด่งขึ้นจากระดับปกติ) บีบีซี ดิป คือการออกแบบลำโพงมอนิเตอร์ในห้องคอนโทรลรูของ BBC (British Broadcasting Corperation) โดยเจตนาออกแบบให้ช่วงความถี่ 1-4 kHz มีระดับความดังตกลงมาประมาณ 3dB เป็นการออกแบบในยุค 1960-1980 ตอนแรกเจตนาที่จะกรองหรือบดบังเสียงแปลกปลอมจากไดรเวอร์กรวยพลาสติคยุคแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้ แต่มีผลพลอยได้คือทำให้ซาวนด์สเตจถอยลึกไปด้านหลังลำโพงจากแนวปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับลำโพงบ้าน ปริมาณการกดช่วงความถี่ก็ไม่มากถึง 3dB และช่วงความถี่ก็แคบลง ที่นิยมกันในยุคหลัง ๆ ก็คือกดช่วงความถี่ประมาณ 4 kHz ซึ่งเป็นช่วงความถี่ใกล้ ๆ จุดตัดแบ่งความถี่สำหรับลำโพงเล็ก ลำโพงที่ยึดแนวทางดังกล่าวต้องยอมสูญเสียความรู้สึกถึงแรงปะทะหรืออิมแพ็คท์ไปบ้างเพื่อให้ได้ เสียงกลางนุ่ม ไม่กระด้างหู ลำโพงไฮเอ็นด์ที่ตอบสนองความถี่แบบ BBC Dip ที่พวกเราเคยฟังมาก็มี Mirage MRM-1 ล่าสุดก็ลำโพงคู่ดัง Magico รุ่น Mini II นั่นเอง

ความไว (Sensitivity)

ลำโพงเล็กที่ความไวต่ำ (82-86dB/2.83V/m) มักให้ดุลย์เสียงที่ราบเรียบ แต่เสียงจะออกมาทางนุ่ม ๆ ขุ่น ขาดความสด และความใส มักต้องเล่นกันที่ระดับความดังสูง ๆ จึงจะได้รายละเอียดครบถ้วน ลำโพงความไวสูง ๆ (90dB ขึ้นไป) มักให้แนวเสียงออกไปทางสว่างไสว คึกคักบางครั้ง อาจคุมดุลย์ได้ไม่ดีนักตอนเล่นดัง ๆ

วงจรตัดแบ่งความถี่ (Cross-over network)

ลำโพงเล็กแทบทั้งหมดเป็นลำโพง 2 ทาง จึงมีจุดตัดแบ่งความถี่แค่จุดเดียว แต่ก็ใช่ว่าวงจรตัดแบ่งความถี่จะลดความสำคัญลงไป มันยังคงสำคัญเท่า ๆ กับลำโพงหลาย ๆ ทาง ในการออกแบบลำโพง รูปทรงตู้ เบสโหลดดิ้ง ที่แตกต่างกันอาจให้ผลที่แตกต่างกันบ้าง แต่ที่ให้ความแตกต่างของคุณภาพเสียงโดยรวมมากที่สุดคือวงจรตัดแบ่งความถี่นี่เอง เนื่องจากอิมพีแดนซ์ของไดรเวอร์ที่นำมาใช้งานร่วมกันทั้งสองตัวไม่มีค่าที่คงที่แบบค่าความต้านทานไฟตรงหรือรีซิสเตอร์ แต่จะแปรผันไปตามความถี่ ไดรเวอร์ที่บอกว่ามี Nominal Impedance 8 Ohm อาจจะมีบางช่วงความถี่ที่ตกลงเหลือ 5 โอห์ม หรือบางช่วงอาจโด่งขึ้นไปถึง 20 โอห์ม ในทางปฏิบัติผู้ออกแบบลำโพงไฮเอ็นด์ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใช้วงจรครอสส์โอเวอร์เน็ทเวิร์คตามตำรา แต่มีการปรับแต่งตามที่เห็นว่าน่าจะถูกต้องโดยการฟัง บ้างก็โดยการวัดทดสอบ แต่การวัดทดสอบก็จะช่วยอะไรไม่ได้มาก ลำโพงที่วัดผลการตอบสนองความถี่ในแนวแกนห่างออกมา 0.5-1 เมตร 2 คู่อาจมีกราฟเหมือนกันเป๊ะ แต่พอนำมาฟังจริง ๆ ในห้องฟังกลับให้เสียงแตกต่างกันอย่างมาก

ลำโพงเล็กที่ใช้วงจรตัดแบ่งความถี่ที่มีความชันสูง ๆ (18-24dB/octave) ส่วนใหญ่มาจากการตอบสนองความถี่ด้านปลาย ๆ ของไดรเวอร์ทั้งสองไม่ราบเรียบ จึงต้องมีการตัดปลายที่ปูด ๆ ทิ้งไป วงจรที่ตัดชัน ๆ แม้ว่าจะให้ดุลย์น้ำเสียงราบเรียบ และอาจรองรับกำลังขับได้สูง แต่ก็นำมาซึ่งเสียงที่เรียบ ๆ ค่อนข้างชืด ๆ ไม่ค่อยมีหางเสียง ไม่ค่อยมีความกระฉับกระเฉงนัก ความรู้สึกถึงอิมแพ็คท์และไดนามิคอาจไม่เต็มเหนี่ยวเหมือนพวกวงจรตัดแบ่งความถี่ที่ตัดไม่ชัน

อุปกรณ์แพสซีฟในวงจรตัดแบ่งความถี่เป็นเรื่องที่ลำโพงทั่ว ๆ ไปไม่ค่อยพูดถึง เพราะเป็นส่วนที่มองไม่เห็น แต่ในลำโพงไฮเอ็นด์เรื่องอุปกรณ์พวกนี้เขาจะพิถีพิถันมาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรง อุปกรณ์จำพวกคะแปซิเตอร์ อินดัคเตอร์ และรีซิสเตอร์ นั้นมีราคาตั้งแต่ตัวละไม่ถึงสิบบาทจนถึงตัวละหลายพันบาท ถือเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่ ถ้าไม่ใช่ลำโพงที่พิถีพิถันหรือเป็นรุ่นพิเศษจริง ๆ บริษัทผลิตลำโพงจะไม่ค่อยใช้อุปกรณ์ชนิดพรีเมียมเกรดพวกนี้

ดนตรี

ลำโพงก็เหมือนนักร้อง มักมีเพลงถนัด เพลงหากินของตนเอง หมายความว่าเมื่อใช้เพลงนั้นเล่นแล้วมันสามารถสำแดงจุดเด่นของตนเองออกมาได้สูงสุด
ผู้เดโมลำโพงตามโชว์รูมจึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้ รู้ว่าลำโพงรุ่นไหนเปิดกับเพลงใดในระดับความดังแค่ไหน แล้วมันโดดเด่นเหนือกว่าลำโพงรุ่นอื่น ๆ

ที่สำคัญกว่านั้นสำหรับนักเดโมมืออาชีพต้องเรียนรู้ว่าเพลงไหนเป็นเรื่องไม่ถนัดของลำโพงคู่นั้น ๆ เพลงไหนที่ใช้กับลำโพงคู่นั้นแล้วไปฟ้องข้อจำกัด หรือจุดที่มันทำได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็นขึ้นมา ส่วนเราในฐานะคนจะต้องเลือกซื้อลำโพงก็ต้องรู้เท่าทันในจุดนี้ ต้องรู้ว่าเพลงที่เขาใช้นั้นมันเป็นชนิดเดียวกับที่เราจะใช้ฟังที่บ้าน หรือไม่ทั้งแนวดนตรีและการบันทึกเสียง ให้ดีที่สุดก็ต้องมีแผ่นหากินของเราติดมือไปเหมือนกัน เผื่อเขาไม่มีแผ่นแบบที่เราอยากฟัง และตัวเราก็ควรมีแผ่นที่บันทึกเสียงดี ๆ ติดไว้บ้าง แผ่นบันทึกการแสดงสดที่บันทึกเสียงดี ๆ อย่าง Harry Belafonte at Carnegie Hall หรืออื่น ๆ ที่เทียบเคียงกันได้ แผ่นที่ใช้เครื่องดนตรีอคูสติคส์ อย่างกีตาร์ เปียโน เครื่องสาย หรือเครื่องลมทองเหลือง จะได้เปรียบพวกเครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้าในแง่ของความเหมือนจริง เพราะเสียงเดินทางผ่านอากาศก่อนที่จะมาเข้าไมโครโฟนโดยตรง มีการผสมเสียงรวมเสียงกันแบบ Acoustic Modulation ก่อนมาถึงไมโครโฟน รวมทั้งมันไม่ผ่านภาคขยายที่ซับซ้อน
เรื่องแผ่นที่ควรติดตัวไปห้องฟัง ลองหาอ่านในเช็คชั่นบันเทิงดนตรีของนิตยสารสเตอริโอเราก็ได้หรืออยากไปทางลัดก็ลองโทร.สอบถามทาง ดร.ชุมพล แกดูก็ได้

ลำโพงเล็กในอุดมคติ

ข้อผิดพลาดในการเลือกลำโพงที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ เรามักไปกำหนดลักษณะเสียงที่อยากได้ อยากได้เสียงอย่างที่เราอยากให้เป็น ซึ่งมันไม่มีอะไรได้มาเปล่า ๆ อยากได้อะไรที่มันพิเศษเหนือธรรมชาติเรา อาจต้องสูญเสียข้อดีข้ออื่น ๆ ไป

ลำโพงเสียงหวาน ลำโพงเสียงนุ่มนวล ลำโพงเสียงอบอุ่น เหล่านี้เป็นความคาดหวัง ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่อย่างทีเราคิด

ลำโพงไม่ควรจะเสียงหวาน เสียงนุ่มนวล หรือเสียงอบอุ่นตลอด ในความเป็นจริงลำโพงยิ่งมีบุคลิกเสียงไปทางใดทางหนึ่งมากเท่าใด มันจะกลายเป็นลำโพงที่น่าเบื่ออย่างรวดเร็ว เมื่อนำมาใช้งานจริงมากขึ้นเท่านั้น ยกเว้นเราจะฟังแค่ดนตรีแนวใดแนวหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นฟังเฉพาะเพลงร้องนักร้องเป็นผู้หญิงอย่างเดียว อย่างนี้อาจเป็นไปได้ที่จะหาลำโพงที่ให้เสียงถูกกับรสนิยมของเรา

ลำโพงในอุดมคติจึงควรเป็นลำโพงที่มีบุคลิกเสียงน้อยที่สุด
ลำโพงที่ดีจึงไม่ควรมีเสียงของลำโพง

จะเสียงหวาน เสียงนุ่ม เสียงอบอุ่น ให้เป็นเรื่องของแผ่นที่บันทึกมา ลำโพงเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดสิ่งที่เก็บบันทึกไว้อย่างเที่ยงตรงที่สุดเท่านั้น

เปิดใจให้กว้าง อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไรมากมาย แล้วรับฟังความเป็นจริงที่ลำโพงแต่ละคู่นั้นนำเสนอลำโพงที่ดีที่สุด คือลำโพงที่ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน ให้รู้สึกดื่มด่ำกับดนตรีได้มากที่สุด
แต่ต้องรู้จักเสียงของดนตรีจริง ๆ บ้างครับ

Stereo Advice ลำโพงเล็ก
โดย คุณอภินันท์ นิตยสารสเตอริโอ