อ่านเอาเรื่อง พัฒนาการของลำโพง

ÍèÒ¹àÍÒàÃ×èͧ_¾Ñ²¹Ò¡ÒâͧÅÓâ¾§

อ่านเอาเรื่อง พัฒนาการของลำโพง

โดย นภดล บุญบันดาล นิตยสารสเตอริโอ

ในยุคเริ่มต้นที่ผมเริ่มสนใจจริงจังกับเครื่องเสียง และคิดจะซื้อหามาครอบครองนั้น อยู่ในราว ๆ ช่วงต้นของปี 1980s ตอนนั้นลำโพงที่เป็นขาใหญ่อยู่ใคร ๆ ก็รู้จักกันทั่วไปก็จะเป็น AR-Acoustic Research และ JBL ถือว่าเป็นผู้นำของค่ายลำโพงตู้ปิดและลำโพงตู้เปิดตามลำดับ ที่จริงแล้วผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็มีอีกหลายเจ้าครับ แต่อาจจะไม่ค่อยรู้จักกันดีนักสำหรับคนทั่ว ๆ ไปเช่น KLH Polk Infinity ฯลฯ ต้องเป็นพวกนักเล่นสักหน่อยถึงจะรู้จัก

ในยุคนั้นลำโพงจากอเมริกามักจะใช้ขอบทำด้วยโฟมซึ่งจะมีอายุราว ๆ 4 ปี ลำโพงจากอังกฤษมักจะใช้ขอบทำด้วยยาง หรือยางสังเคราะห์ที่เชื่อกันว่าอายุใช้งานยืนยาวกว่าโฟม ซึ่งมักจะเปื่อยยุ่ยไปเอง ลำโพงจากญี่ปุ่นก็มีขายแต่ถือว่าเป็นของแบบใช้แล้วไม่เท่

ประเด็นสำคัญที่คนสนใจกันถกเถียงกันคือข้อดี/ข้อเสียของระหว่างระบบตู้เปิด ที่เรียกว่า Bass Reflex หรือ Vented Box และตู้ปิดที่เรียกว่า Acoustic Suspension หรือ Closed Box ตอนนั้นการออกแบบลำโพงตู้เปิดยังไม่เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งนัก ต้องคำนวณกันยุ่งยากหลายรอบกว่าจะได้ผลจำลองเรียกว่า simulation ทำนายผลโดยการคำนวณจากการตั้งข้อกำหนดว่าถ้าใช้ปริมาตรตู้ขนาดเท่านี้ ใช้ท่อหรือช่องเปิดกับความยาวขนาดเท่านั้น จะแสดงการตอบสนองความถี่เป็นอย่างไร เกิดความถี่เรสโซแนนซ์ตรงไหน เบสส์ลงไปได้ถึงไหน โด่งตรงไหนบ้างหรือเปล่าอะไรทำนองนี้

ต่างกับลำโพงตู้เปิดผิดพลาดไปก็ได้ผลที่ไม่น่ารังเกียจมากนัก อาจจะบึ้มไปนิดหรือบางไปหน่อย ส่วนมากยังพอรับได้

การศึกษาเรื่องของลำโพงมีมานานแล้ว แต่ว่าการที่สรุปออกมาว่า คุณสมบัติใดที่เกี่ยวข้องสามารถเอามาคำนวณยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจกัน ความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้นหลังจากเอกสารแสดงผลการคำนวณโดยใช้คุณสมบัติต่าง ๆ ของไดรเวอร์และตู้ใน 38 รูปแบบ โดย A.N.Theil และ R. Small นำเสนอสู่ AES ผู้สนใจได้เห็นแนวทางความเป็นไปได้ แต่มีความลำบากในการคำนวณอยู่พอสมควร จนกระทั่งเมื่อคอมพิวเตอร์ตัวเล็ก ๆ ได้พัฒนาจนแพร่หลายราคาไม่แพงมาก การคำนวณไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป การออกแบบลำโพงตู้เปิดกลายเป็นเรื่องง่ายสะดวกดายไปแล้ว ความนิยมในลำโพงตู้เปิดจึงมากขึ้นจนแทบว่าลำโพงตู้ปิดได้ลดลงไปมาก

เนื่องด้วยการเน้นในรูปลักษณ์ภายนอกกัน ผู้ออกแบบจะต้องทำตู้ให้มีสัดส่วนดูดีไว้ก่อน ส่วนมากเขาจะทำลำโพงตู้เปิดกันเป็นส่วนใหญ่เพราะความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ไดรเวอร์ การกำหนดขนาดตู้ได้แล้วค่อยคำนวณหาขนาดท่อหรือช่องเปิดที่เหมาะสมโดยยังได้เบสส์ที่พอใจได้

ในขณะที่ลำโพงตู้ปิดนั้นขนาดของตู้ค่อนข้างจะถูกจำกัดไว้ด้วยคุณสมบัติของวูฟเฟอร์ จะออกแบบตู้ให้มีขนาดตามที่ต้องการก็ต้องออกแบบวูฟเฟอร์ให้มีคุณสมบัติพอดี ๆ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่ชื่นชอบเสียงเบสส์ของลำโพงตู้ปิดอยู่ จึงมีการผลิตขึ้นมาอีก ต้องออกแบบวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมด้วย

เริ่มต้นด้วยตำนานกันดีกว่า ในขณะที่ LS 3/5a มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งทางอังกฤษ ยุโรปและอเมริกาในฐานะลำโพงเล็กคุณภาพสูง ใช้วูฟเฟอร์ขนาดประมาณห้านิ้วเท่านั้น ซึ่งโดยมากลำโพงอื่นจะใช้วูฟเฟอร์ขนาดแปดนิ้วกัน ตอนนั้นวูฟเฟอร์ขนาดแปดนิ้วถือว่าเป็นขนาดที่นิยมกันมากใช้ได้สารพัดประโยชน์ จนเรียกกันว่า Godsend คือพระเจ้าประทานมานั่นเชียว มีเบสส์ที่ดีพอ ไม่จำเป็นต้องใช้ไดรเวอร์ใหญ่ขึ้นไปในตู้ใหญ่ ๆ และมีเสียงกลางที่ดีพอ ไม่ต้องการไดรเวอร์มิดเรนจ์ที่เล็กกว่ามาเสริมอีก

LS 3/5a ออกแบบโดยทีมงานของ BBC ที่อังกฤษ ถือว่าเป็นพัฒนาการก้าวกระโดดของวงการ ตั้งแต่ความตั้งใจที่จะทำลำโพงเล็กคุณภาพสูงที่ให้เสียงครบตลอดย่าน จึงต้องพัฒนาไดรเวอร์ขนาดเล็กคุณภาพสูงขึ้นมา สูงกว่าไดรเวอร์ทั้งหลายที่มีในยุคนั้นละครับ มีการนำพลาสติคมาใช้ทำกรวยแทนกระดาษ การออกแบบครอสส์โอเวอร์เน็ทเวิรคที่ซับซ้อนพิถีพิถันจริงจัง การควบคุมมุมการกระจายเสียงของทวีตเตอร์ ไปจนถึงการหาบริษัทภายนอกมาผลิตไดรเวอร์ตามสเปคและผลิตและประกอบตู้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป รายละเอียดเรื่องนี้มีอีกยาวครับคงได้มาว่ากันอีกที

สรุปว่า LS 3/5a ประสบความสำเร็จทั่วโลกทำให้วงการหันมาสนใจลำโพงเล็กคุณภาพสูงกันมากขึ้น ไดรวเวอร์ขนาดห้านิ้วได้รับความนิยมในการนำมาใช้เป็นวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์กัน ทวีตเตอร์ก็มีการพัฒนากันไปด้วย มีการผลิตลำโพงออกมาแข่งกับเจ้าตัวเล็กอมตะนี้อีกมากมายหลายรุ่น ที่ได้รับความนิยมตัวหนึ่งก็คือ Linn Kan วูฟเฟอร์มาจาก KEF เช่นกัน แต่ใช้ทวีตเตอร์โดมผ้า แม้ว่าออกแบบให้ดูคล้าย LS 3/5a แต่เสียงเป็นของตัวเองตามที่ Ivor Tiefenbrun แห่ง Linn เขาตั้งใจให้มันหวานเนียนลึกซึ้งเบสส์นุ่ม ๆ หนา ๆ เพื่อกับแอมป์ Naim Nait ที่เหมือนว่าออกแบบมาเพื่อใช้ด้วยกันโดยเฉพาะ แถมเรื่องลำโพง Linn อีกนิดครับ เขามีรุ่นที่ใหญ่ขึ้นมาอีกสองรุ่นคือ Sara และ Isobaric ประเด็นที่น่าสนใจคือออกแบบให้วูฟเฟอร์ทำงานในระบบ Isobaric ซึ่งใช้วูฟเฟอร์สองตัวซ้อนกันทำงานคู่กันผลักไปข้างหน้าดึงมาข้างหลังพร้อมกัน ให้แรงดันอากาศระหว่างวูฟเฟอร์ทั้งคู่มีค่าคงเดิม ผลที่ได้คือเบสส์ลงไปได้ลึกในตู้ขนาดที่เล็กกว่าลำโพงระบบตู้ปิดปกติ แต่ที่ผมติดใจมากกว่านั้นอีกคือเสียงแหลมของเขาครับ รายละเอียดดีมาก แล้วมารู้ทีหลังว่าใช้ Hiquphon นี่เอง

กลับเข้าลู่วิ่งเดิมครับ ลำโพงของ BBC มีรุ่นใหญ่ขึ้นมาอีกหลายรุ่น ส่วนมากทำใช้เอง ไม่ได้ทำออกมาเพื่อขายอย่างเจ้าตัวเล็ก แต่ช่างทั้งหลายของ BBC นั้นออกมาตั้งโรงงานและผลิตออกมาหลายราย ที่มีชื่อรู้จักกันและเข้มแข็งอยู่ทุกวันนี้ก็คือ Spendor และ Harbeth เป็นที่ชื่นชอบกันในด้านคุณภาพของเสียงกลางและแนวเสียงในลักษณะมีความนุ่มนวลสุขุมลุ่มลึก ทั้งสองเจ้านี้ได้รับความนิยมทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น อาจจะไม่นิยมกันนักในอเมริกาและฮ่องกง

รุ่นที่สร้างชื่อให้กับ Spendor มากที่สุดต้องยกให้ BC-1 ซึ่งถือว่าเป็นมอนิเตอร์ในสตูดิโอที่แพร่หลายพอสมควร เป็นลำโพงสามทางขนาดเขื่อง ๆ แล้วก็มี SP-1 ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับมาให้ใช้ฟังกันในบ้าน SA-3 เป็นลำโพงสองทางแอคตีฟมีแอมป์ในตัว 100 และ 50 Watt สำหรับวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว และทวีตเตอร์โดม 34 mm ของ Audax

ส่วน Harbeth นั้นส่วนมากจะทำลำโพงขนาดย่อม ๆ ลงมา รุ่นที่มีชื่อเสียงคือ HL1 Mk III เป็นการนำกรวยโพลีพรอปพีลีนมาใช้เป็นรุ่นแรกของเขา และรุ่นขวัญใจมวลชนก็คือ HL Compact ใช้กรวย TPX เสียงกลางใสสะอาด

วูฟเฟอร์ขนาดหกนิ้วมาได้รับความนิยมจาก Celecstion SL6 ที่ได้รับการชื่นชมสนั่นเกาะอังกฤษ ออกแบบโดย Graham Bank ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดอาการของการสั่นสะเทือนอย่างนำสมัยด้วย Laser Interferometry แล้วเอามาแสดงให้เห็นภาพในจอคอมพิวเตอร์ ช่วยให้พัฒนาไดรเวอร์ขึ้นมาได้อย่างน่าชื่นชมทั้ง วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์และทวีตเตอร์ เราได้เห็นอาการเรสโซแนนซ์ของกรวย และโดมระหว่างการทำงานของไดรเวอร์ ทำให้ผู้ออกแบบสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผลออกมาจริง SL6 ให้เสียงในแบบที่สะอาดกลมกล่อม แต่ต้องฟังในระดับความดังพอสมควร เบานักก็ไม่ค่อยจะให้ความมันได้เท่าที่ควร

ต่อจาก SL6 ผู้ออกแบบก็พัฒนาต่อไปอีก ทีนี้ให้ความสำคัญกับตัวตู้ เขาลดการสั่นสะเทือนทั้งหลายด้วยการใช้อลูมินั่มแทนที่จะใช้ไม้ MDF อย่างเคย SL600 ใช้ตัวตู้เป็นอลูมินั่มแซนด์วิช ผิวทั้งสองด้านเป็นแผ่นอลูมินั่ม ใส้กลางเป็นโครงสร้างที่ทำเป็นแบบรังผึ้งเพื่อให้ความแข็งแรงโดยมีน้ำหนักเบา Aerolam นี้ใช้ทำพื้นทางเดินบนเครื่องบินอยู่ก่อนแล้ว มาถึงตรงนี้ก็ขอไปต่ออีกนิดเถอะครับ SL600 ก็ได้รับความสนใจเป็นอันมาก แต่ด้วยราคาที่สูงมากขึ้น นักเล่นนักฟังอยากได้เบสส์มากขึ้นกว่าที่มี ผู้ออกแบบจึงต้องมีซับวูฟเฟอร์ออกมาใช้กับมัน ออกแบบเป็นระบบ Dipole ไม่มีตู้ปิดด้านหนึ่งของไดรเวอร์ไว้อย่างที่ทำกันตามปกติ ปล่อยให้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของกรวยไดรเวอร์ผลักอากาศให้เสียงออกมาทั้งสองด้าน ลักษณะการกระจายของเสียงเป็นรูปคล้ายเลขแปด มีชุดอิเลคโทรนิคส์หรือ equqalizer ที่ต้องใช้ด้วยกัน คอยปรับสัญญาณเพื่อการตอบสนองความถี่ให้ราบเรียบขึ้น กันไม่ให้เบสส์บางนั่นแหละครับ ใช้ด้วยกันเรียกว่า SL6000 เป็นลำโพงที่ให้เสียง สะอาดตลอดย่าน เบสส์รวดเร็วจังหวะกระชับ เล่นได้ดังและมีไดนามิคดีขึ้น อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่ว่าจะให้เบสส์ที่หนักหน่วงอย่างซับวูฟเฟอร์ระดับหัวกระทิเขาทำได้

จุดสำคัญตรงนี้ผมคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างกระแสความนิยมไดรเวอร์ขนาดหกนิ้วขึ้นมาอย่างแรง ลำโพงกระทัดรัดวางหิ้งที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดประมาณหกนิ้วมีออกมามากมาย พวกแปดนิ้วที่เคยครองความเป็นเจ้าที่เจ้าถิ่นนั้นถูกกวาดให้กระเถิบออกไปห่าง ลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดแปดนิ้วกลายเป็นลำโพงขนาดเขื่อง ๆ ค่อนข้างใหญ่ไปแล้ว แถมถูกมองว่าให้เสียงกลางไม่ดีเท่าพวกหกนิ้วทั้งหลาย

ขณะที่ลำโพงเล็กกำลังเป็นที่นิยม นักเขียนแต่ละคนต้องหาลำโพงเล็ก ๆ มา ผลักดันให้แหวกกลุ่มออกมาเป็นลำโพงดัง Harry Pearson แห่ง The Absolute Sound คว้าเอาบิ๊กจิ๋ว ProAc Tablette มาสร้างกระแสด้วยคุณสมบัติว่า เสียงแหลมดีมีรายละเอียดเที่ยงตรงขนาดที่ใช้เป็นตัวช่วยในการตั้งมุม VTA ของหัวเข็มแผ่นเสียงได้

เล่นเอา ProAc ดังกระฉูดขึ้นมาจริง ๆ Stewart Tyler เป็นผู้ออกแบบ ซึ่ง ProAc เป็นบริษัทที่แตกแขนงมาจาก Celef Audio โดยใช้ไดรเวอร์คุณภาพสูงขึ้น ทำไปทำมา Celef Audio ก็ยุบไปเหลือแต่ ProAc ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน มีผลิตภัณฑ์ที่วงการให้ความชื่นชอบกันหลายรุ่น เช่น Response 2.5 ลำโพงขนาดกลางๆตั้งพื้น และ Response 4 รุ่นนี้ถือว่าเป็นลำโพงใหญ่ ทีเด็ดอยู่ตรงมิดเรนจ์ที่ใช้ ATC SM75-150 เสียงกลางชัดดี ไม่แข็งเกิน ไม่นุ่มเกิน กำลังดี แบบ Right in the Middle นั่นละครับ เบสส์ก็ชัดเจนหนักแน่นดีไม่นุ่มอวบใหญ่อย่าง ProAc รุ่นอื่น ๆ

กลับมาที่ลำโพงเล็กครับ ตอนนั้นดูเหมือนจะมีแต่ของจากอังกฤษยึดครองโลกไว้ นักเขียนที่เป็นคู่แข่ง Harry Pearson ต้องเป็น J. Peter Moncrieffe แห่ง IAR หันไปคว้าลำโพงเล็กที่ออกแบบและทำในอเมริกา รูปทรงแปลกตา Spica TC-50 ออกแบบโดย John Bau เป็นบริษัทเล็ก ๆ แต่ใช้ความรู้ในการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์มาออกแบบวงจรครอสส์โอเวอร์เน็ทเวิร์ค นำเอาการตอบสนองแบบ 4th Order Bessel มาใช้ทางด้านวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ และ 1st Order มาใช้กับทวีตเตอร์ ไดรเวอร์ทั้งวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์นั้นมาจาก Audax เป็นของที่ราคาไม่แพงหรู แต่ผู้ออกแบบเอามาใช้ได้ผลอย่างน่าทึ่ง นั่นคือเรื่องของความกลมกลืนทางด้านจังหวะเวลา (Phase Coherence) ทำให้ลำโพงรุ่นนี้สามารถให้ความลึกในซาวนด์สเตจหรือบริเวณเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม มันให้ความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งเสียงต่างๆที่อยู่ในมิติด้านความลึกที่ต่างกัน เป็นแบบสามมิตินั่นแหละครับ Peter Moncrieffe ยังได้นำเสนอผลการวัดการตอบสนองต่อสัญญาณคลื่นฉากให้เห็นว่า TC-50 นี้ทำได้ดีกว่าลำโพงอื่น ๆ มาก

ลำโพงที่เน้นเรื่องการออกแบบเน็ทเวิร์คให้รักษาความกลมกลืนของจังหวะเวลา หรือ Phase Coherence นั้นต้องกล่าวถึง Thiel ด้วยครับ รุ่นแรกที่ผมรู้จักคือ Model 04 รูปทรงผอมเพรียวหน้าเอียงแหลมเป็นลิ่มขึ้นไป Jim Thiel เป็นผู้ออกแบบเขานำประเด็นในเรื่องของวงจรเน็ทเวิร์คออร์เดอร์ที่หนึ่งมาใช้ ตามทฤษฎีแล้ววงจรออร์เดอร์ที่หนึ่งจะให้ความถูกต้องทั้งด้านของเวลา และความราบเรียบในการตอบสนองความถี่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาอยู่ที่ต้องใช้ไดรเวอร์ที่สามารถทำงานในช่วงกว้างมาก ๆ ซึ่งหายากเหลือเกินในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม Jim Thiel มีวิธีการเฉพาะตัวที่จะทำออกมา ลำโพง Thiel ให้ความรู้สึกด้านความลึกได้ดี แต่นักเล่นนักฟังมักจะติว่าเบสส์ค่อนข้างบาง จนผู้ออกแบบต้องมี CS-5 ลำโพงขนาดใหญ่หลายทางออกมาสร้างภาพพจน์ใหม่ สามารถให้เบสส์ลึกได้เป็นพิเศษถ้าแอมป์มีสมรรถนะดีพอให้กระแสได้ไม่จำกัด เพราะบางจังหวะ CS-5 จะมีอิมพีแดนซ์ตกวูบลงไปต่ำกว่า 2 Ohms แอมป์มักจะสำลักถึงจุดจำกัดไปก่อน

เกี่ยวกับการออกแบบลำโพงให้ถ่ายทอดความลึกได้ดีมีความกลมกลืนถูกต้องด้านเวลานั้น ตัวที่เป็นอาจารย์ปู่ผมขอยกให้ Dahlquist DQ-10 แยกแผงที่ติดตั้งไดรเวอร์แต่ละตัว ออกจากกันแล้วจัดให้มันเยื้องยักกัน เพื่อให้วอยซ์คอยล์อยู่ในแนวที่ตรงกัน จุดกำเนิดเสียงจะได้อยู่ในแนวเดียวกันด้วย

ต่อมา Vandersteen ก็มีผลิตภัณฑ์ในแนวนี้ออกมาเช่นกัน แต่รูปทรงง่าย ๆ กว่าใช้โครงและผ้าคลุมไว้ แยกทวีตเตอร์และมิดเรนจ์ไว้ในตู้เล็กเฉาพะตัววางซ้อนกันไว้ ทางด้านเบสส์มีอะไรแปลกๆอยู่เพราะนอกจากจะมีวูฟเฟอร์ตัวหลักแล้ว ยังมีวูฟเฟอร์ตัวรองในระบบกึ่งจะเป็น Passive Radiator หันไปทางด้านหลังช่วยเสริมความถี่ต่ำ ๆ

ทางอังกฤษมีลำโพงประเภทหัวจุกแบบนี้ท่านคงเคยเห็นมาแล้ว KEF R105.4 และ R105.2 กับคู่แข่ง B&W 801 และ 802 ซึ่งประสบความสำเร็จมากพอสมควรทั้งในการใช้ฟังเพลงในบ้านหลังใหญ่ ๆ และการใช้เป็นมอนิเตอร์ในสตูดิโอ

KEF เป็นผู้ผลิตไดรเวอร์ให้กับ LS3/5a และลำโพงอื่น ๆ ด้วย มีการวิจัยค้นคว้าที่นำความก้าวหน้าให้วงการลำโพงอย่างต่อเนื่อง ยังมีลำโพงรุ่นรองๆลงมาอีกหลายรุ่น เช่น 103.2 ลำโพงสองทางขนาดกระทัดรัดใช้วูฟเฟอร์แปดนิ้วที่นิยมกันตอนนั้น เสียงนับว่าครบเครื่อง 101 ที่ใช้ทั้งวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ ดูเหมือนกับที่ใช้ใน LS3/5a แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันไม่น้อย 101 ออกแบบมาให้เล่นได้ดังกว่าและไม่ได้ทำให้มีแนวเสียง แบบพิมพ์นิยมของ BBC ส่วนรุ่นที่มีการออกแบบแหวกแนวคือ 104/2 ใช้ Couple Cavity Chamber วูฟเฟอร์อัดอากาศในตู้ที่ทำเป็นห้องดักไว้ช่วงหนึ่ง ก่อนปล่อยเป็นคลื่นเสียงออกมาภายนอก นอกจากนี้ KEF ยังมีชุดประกอบเอง ให้เรามาลองฝีมือกัน และมีซีรี่ส์ประหยัดขวัญใจมวลชนอย่างรุ่น Coda และ Caprice

B&W ตีคู่กับ KEF มาหลายปี มีการพัฒนาไปต่างแนวกัน นำวัสดุสมัยใหม่มาใช้ในไดรเวอร์ทั้งพวก ไฟเบอร์ใยแก้วมา Kevlar ไปถึง Rohacell Foam แล้วยังมีทวีตเตอร์โดม “เพชร” ในช่วงหลังนี้ B&W มีการออกแบบโครงตู้ที่เรียกว่า Matrix ซึ่งเป็นการทำโครงเป็นตารางมีช่องให้อากาศถึงกันได้ค้ำผนังตู้ทั้งหมด ลดการสั่นสะเทือนอย่างได้ผล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีตู้รูปทรงแบบหอยโข่ง ทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติพิเศษตามที่ผู้ออกแบบต้องการ แต่ว่าตัวเด่น ๆ ที่ให้จดจำกันผมกลับนึกไม่ค่อยออก แค่นึกถึง 801 ก็งงแล้วเพราะการพัฒนาต่อเนื่องมานานและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

Dave Wilson ผู้ทำแผ่นเสียง Wilson Records ก็หันมาสนใจลำโพงเล็กด้วย หลังจากที่มีลำโพงมอนิเตอร์ขนาดใหญ่รุ่น WAMM ออกมาสร้างความตะลึงแก่วงการมาแล้ว คราวนี้ก็มีลำโพงเล็กในชื่อ WATT รูปทรงตู้คล้ายปิรามิด ตัวตู้ทำจากวัสดุสังเคราะห์หนักอึ้ง เนื่องด้วยเบสส์บางเฉียบ เขาจึงออกแบบขาตั้งพิเศษออกมามีแผงต่อลงมาด้านล่างเรียกว่า Beard เอาไว้เสริมเบสส์ ก็ไม่ค่อยได้ผลนัก ต่อมาจึงปล่อยซับวูฟเฟอร์ในชื่อ Puppy ออกมา ใช้เป็นฐานของ WATT ได้ลงตัวพอดี ที่จริงคงออกแบบเตรียมไว้ก่อนแล้วละครับ มาถึงตอนนี้ปรากฏว่าเข้าหูเข้าตานักเล่นนักฟังเป็นอย่างยิ่ง ผมเคยฟังมาแล้วในความเห็นของผมแล้วมันออกจะโฉ่งฉ่าง เบสส์ใหญ่บึ้มค่อนข้างช้าหน่อย เสียงกลางชัดเจนดี เสียงแหลมนี่ออกจะรับยากเลยครับทั้งแข็งและคม ออกจะกระด้างไม่กังวาน แต่ก็นี่ละครับเสี่ย ๆ เขาชอบกัน WATT/Puppy ยิ่งใหญ่พัฒนาต่อเนื่อง มารายละเอียดเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เสียงก็เปลี่ยนไปเช่นกัน น่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง WATT8 แล้วเพิ่งจะยุติลง ไปเปิดทางให้ Sasha รวบเป็นตัวเดียวกันไปเลย นี่ก็เป็นแนวของลำโพงที่ผลักดันราคาให้สูงไว้ และการใส่ความพิเศษอะไรต่ออะไรเข้าไปที่ตู้ ตัวไดรเวอร์นั้นที่จริงนัก DIY คงพอรู้และหาได้ อย่างไรก็ตามทำออกมามันก็ไม่ใช่ของจริงอยู่นั่นเอง

ว่ากันถึงลำโพงใหญ่ของฝั่งอเมริกานั้นก็มีมากนะครับ รุ่นใหญ่นั้นใหญ่จริง ๆ มหึมาเลยก็ว่าได้ JBL Everest และ Paragon นั้นเป็นลำโพงใหญ่มาก ๆ ต้องมีห้องใหญ่ ๆ ถึงจะบรรจุพอไว้ได้ แต่ผมชอบรุ่น L-250 มากกว่า มันเป็นรุ่นที่ JBL พยายามเบียดเข้าสู่ตลาดไฮเอ็นด์ จากที่ปกติทำลำโพงสำหรับนักเล่นักฟังทั่วไปในระดับกลาง ๆ มากกว่า ราคาสูงขึ้น คุณภาพการผลิตดูดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง จุดที่ผมประทับใจคือมันให้เบสส์ที่ลึกมีน้ำหนักอย่างแท้จริง ไม่ต้องใช้แอมป์ที่กำลังมากเป็นพิเศษแต่อย่างใด ต่อจากนั้นปรับปรุงขึ้นเป็น L250Ti ใช้โดมไทเทเนียม เสียงก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไร

ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน AR มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของอีก ได้ว่าจ้าง Ken Kantor ผู้กำลังเป็นดาวรุ่งไฟแรงมาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เขาเรียกว่า MGC1 หรือ Magic Speaker 1 เน้นให้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกด้านอิมเมจและซาวนด์สเตจที่ AR ไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องพวกนี้มาก่อน ก็นับว่าพอได้ตามที่มุ่งหวังครับ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรในวงการ อาจจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่ยังไม่ค่อยเข้าตาเซียน

ที่ถือว่าเป็นสุดยอดต้องยกให้ Infinity IRS ที่ The Absolute Sound เขายกย่องไว้นักหนา นักเล่นนักฟังต่างพยายามหาโอกาสฟังกันให้ได้อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งก็ยังดี Infinity ตอนนั้นเป็นชื่อที่ขลังมากในยุคนั้น ไม่มีใครบังอาจไปบอกว่าเสียงไม่ดี แค่รุ่นเล็กจิ๋ว Qe และ Qa ใหญ่กว่าจิ๋วหน่อยใคร ๆ ก็บอกว่าดีเหลือเกินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงแหลมที่มาจากทวีตเตอร์ EMIT ที่เหมือนเป็นกระบี่วิเศษคมกริบ รุ่นที่ผมฟังแล้วคิดว่าน่าฟังคือ รุ่น RS II ไม่ใช่รุ่นใหญ่จริง บางคนบอกว่ารุ่นนี้เสียงยังไม่เป็น Infinity แบบเต็มตัวสักเท่าไร ผมก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน มันฟังสบายหูกว่า Infinity อื่น ๆ แต่เดี๋ยวนี้ Infinity มาอยู่ใต้ปีกของ Harman International ดูท่าจะกลายเป็นสินค้าสำหรับชาวบ้านทั่วไปมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาเก็ตทั้งหลาย บรรดานักเล่นนักฟังไม่ค่อยให้ความสนใจกันสักเท่าไรแล้ว

มีลำโพงตัวใหญ่อีกรุ่นหนึ่งที่ยังติดใจอยู่อีกครับ ADS L-2030 ทำมาในรูปทรงออกทางกว้าง ๆ มากกว่าลึก มีมิดเรนจ์และทวีตเตอร์อยู่กับแผงหน้าที่เอียงข้างเข้าหาผู้ฟัง ลำโพงคู่นี้ก็ฟังสนุกครบเครื่อง ครั้งแรกได้ฟังที่งานแสดงเครื่องเสียง ซึ่งบรรดาผู้ที่ได้ฟังทั้งหลายนั้นอ้าปากค้างน้ำลายยืดกันเป็นแถว ๆ จากนั้นจึงหาโอกาสตามไปฟังที่ร้านและที่บ้านลูกค้าที่ซื้อไป เป็นลำโพงใหญ่ครับเปิดเบาไม่ค่อยได้อรรถรส ต้องหาเพลงที่จะทำให้มันแสดงสมรรถนะออกมาได้ เล่นให้ดังพอสมควรอย่าไปเกรงใจใคร จะได้ความคึกคักตื่นเต้นสะใจ ADS เป็นบริษัทแบบหลายชาติมาร่วมกัน ใช้ชิ้นส่วนจากที่โน่นที่นี่ทำให้มีราคาไม่สูงนักในคุณภาพที่ดี ช่วงหลังได้ยินว่าผลิตที่อินโดนีเซียแล้วก็เงียบหายไป

เกือบลืมลำโพงประเภท Symmetry ไปแล้ว รุ่นที่ทำให้วงการสะเทือนกันต้องเป็น Dunlavy SC IV กับ Duntech Sovereign ลำโพงตัวมหึมาคู่แข่งกัน ที่นักเล่นนักฟังตะลึงกัน แผงหน้าเยื้องยักเป็นขั้นบันได เรียงไดรเวอร์ในแนวดิ่งแบบสมมาตรโดยให้ทวีตเตอร์เป็นกึ่งกลาง จากนั้นหลายเจ้าก็ทำกันออกมา สุดท้ายลำโพงแนวนี้มาได้ดีกับโฮมเธียเตอร์ เนื่องด้วยมันให้ตำแหน่งเสียงได้ชัดเจนเป็นพิเศษแถมด้วยความกระหึ่มมีไดนามิคคึกคัก

ลำโพงประเภททรานสมิชชั่นไลน์นั้นเริ่มต้นออกมาขายกันมาตั้งแต่ IMF แล้วพรรคพวกทั้งหลายก็แยกย้ายกันออกมาเป็น TDL และ Fried มีเหตุการเบื้องหลังนิดหน่อยดังนี้ เริ่มต้นด้วยทีมผู้ออกแบบและผลิตลำโพงทรานสมิชชั่นไลน์อยู่ในอังกฤษ อยากจะให้มันแจ้งเกิดที่อเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ก็มี Irvin M. ‘Bud’ Fried สนใจเป็นผู้จัดจำหน่ายโดยจะใช้ชื่อลำโพงนั้นว่า IMF ทีมทางอังกฤษดีใจได้ขายแล้ว!!! ก็ไปตั้งบริษัทชื่อ IMF นี่แหละจะได้ชื่อตรงกัน แต่ว่า Irvin Fried ไม่ได้มีส่วนในการลงทุนด้วย ทำส่งอเมริกาไปได้สักพัก Irvin Fried เล่นพิเรนท์ทำลำโพงเองใช้ชื่อ IMF แล้วขายคู่ไปกับลำโพงที่มาจากอังกฤษ ในราคาถูกกว่า ทีมของ IMF ที่อังกฤษก็เลยตัดญาติกับ Irvin Fried แล้วยุบบริษัทเดิม จากนั้นตั้งขึ้นใหม่เป็น TDL โดยมี John Wright ผู้ออกแบบคนดั้งเดิมเป็นหัวเรือใหญ่ ส่วน Irvin Fried ก็ตั้งบริษัทที่อเมริกาเป็น Fried คราวนี้ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ก็มีสินค้าออกมาในแนวเดียวกัน

พวกลำโพงแผ่นก็มีผ่านเข้ามาหลายรุ่น พอได้ฟังบ้างครับ

Magnepan ใช้แม่เหล็กกับเส้นตัวนำที่ผลึกติดกับแผ่น Mylar ที่จะสั่นตามจังหวะสัญญาณ

Acustat ลำโพงประเภทอิเลคโทรสแตติคหรือประจุไฟฟ้าสถิตย์จากญี่ปุ่น รายละเอียดระยิบระยับ ต้องใช้แอมป์ที่เหมาะสม

Martin Logan อิเลคโทรสแตติคที่ทำเป็นแผ่นโค้งออกช่วยให้มุมการกระจายเสียงกว้างขึ้น

Apogee ลำโพงประเภท Ribbon ที่ทำมาเป็นแผง เพื่อให้สามารถทำงานได้ถึงช่วงความถี่ต่ำกว่าลำโพง Ribbon ทั้งหลาย ที่มักจะใช้กันในช่วงความถี่สูง เสียงออกไปทางกระฉับกระเฉงรวดเร็วคึกคัก

Quad ESL 63 อิเลคโทรสแตติคจากอังกฤษที่มีวงจรหน่วงเวลา ระหว่างส่วนกลางและส่วนนอก ๆ ออกไปช่วยให้มีความลึกในซาวนด์สเตจไม่เวิ้งว้างอย่างลำโพงแผ่นทั้งหลาย ผมชอบรุ่นนี้ละครับ ฟังสบาย ๆ โปร่ง ๆ

ลำโพงแผ่นโดยมากจะให้เสียงกลางที่ฟังแล้วโปร่งสบายเป็นอิสระจากตู้ มีความลึกไปข้างหลังอาจจะลึกจนหาตำแหน่งไม่เจอก็ได้ ปัญหาในการใช้งานก็มีบ้างเพราะมีเสียงออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ต้องจัดการด้วยวิธีการที่ต่างจากปกติบ้าง หลายรุ่นจะดึงกระแสปริมาณมาก และขับยากมักจะต้องอาศัยหม้อแปลงมาช่วยปรับอิมพีแดนซ์ให้แอมป์ทำงานได้สะดวกขึ้น

ส่วนพวกลำโพงฮอร์นนั้นไม่ได้ติดตามจริงจัง เคยมีโอกาสได้ฟัง Tannoy Westminster อยู่บ้าง ก็รับรู้ถึงความอลังการทั้งรูปลักษณ์และเสียง รุ่นนี้ก็แปลกทางญี่ปุ่นยกย่องกันมากครับ เคยฟัง Klipschorn เสียงเป็นแนวตรงกันข้ามเลย อันนี้ออกแนวคึกคักไดนามิคสุดขั้ว

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกจุดหนึ่งคือมีลำโพงที่มีรูปลักษณ์สวยงามโดดเด่นเข้าสู่วงการ ผมคิดว่ารายที่เป็นผู้นำในแนวนี้คือ Dali จาก Denmark ทำมาก่อนใครเขาในด้านความปราณีตและสุนทรีย์ แต่เห็นกันชัดตาจริง ๆ ด้วย Sonus Faber จากอิตาลีออกแบบได้สวยงามมากและผลิตได้ปราณีตละเอียดละออ ราคาสูง ดูหรูสุดขั้ว ได้มีการตอบรับที่ดีจากวงการ ทำให้บริษัทอื่น ๆ หันมาตามอย่าง เน้นรูปลักษณ์และความปราณีตราคาไม่ต้องห่วง ทางอิตาลีก็มี Chario อีกเจ้าหนึ่งแต่ไม่รู้จักกันมากนัก

ในแนวนี้เจ้าที่เด่นทางอังกฤษมี Wilson Benesch ใช้คาร์บอนไฟเบอร์มาทำเป็นผนังตู้และอาจจะเป็นต้นกำเนิดของความนิยมทรงตู้แบบที่มีความโค้งทางด้านข้างมาถึงทุกวันนี้

ทางอเมริกามี Revel จากเครือ Harman ซึ่งตอนนี้อาจจะลดความหรูลงไปแล้วเน้นไปทางโฮมเธียเตอร์ มี Eggleston Works ใช้กรวยคาร์บอนไฟเบอร์ ตัวตู้แข็งแรง มีบางรายที่ใช้ไดรเวอร์โดมเว้าทำจากวัสดุพิเศษเป็นเซรามิคหรือรุ่นสุดยอดเป็นโดมเพชรไปเลย อย่าง Kharma/ Lumen White และ Avalon

Magico และ YG Acoustic ที่ใช้อลูมินั่มเป็นวัสดุในการทำตัวตู้ Celestion SL-600 ที่เคยว่าหรูนั้นต้องชิดซ้ายไปไกล ๆ เลย

มีอีกเยอะเลยครับบางรายก็รีบมารีบไป บางรายก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานะการณ์ทำลำโพงสำหรับให้ฟังกันใกล้ ๆ

ช่วงปี 1990s มาถึงยุคที่วิชาการบริหารจากผู้ชาญฉลาดทั้งหลายเฟื่องฟู กลยุทธทางการตลาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจไปทั่วโลก ทุนใหญ่กินทุนน้อย บริษัทผู้ผลิตลำโพงหลายรายมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ ถูกควบกิจการโดยบริษัทใหญ่ที่อาจจะมีธุรกิจหลักที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการเครื่องเสียงเลย แนวการออกแบบและนโยบายเปลี่ยนไปตามเจ้าของใหม่หรือเพื่อกลยุทธทางการตลาด เน้นการทำให้เป็นการค้ามากขึ้น มีการย้ายแหล่งผลิตไปที่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำเพื่อให้ต้นทุนลดลง

อีกแนวหนึ่งก็ทำให้มันเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีความหรูหรามากขึ้น ดูดีกว่าลำโพงทั้งหลายพร้อมกับผลักราคาสูงให้ขึ้นหนีออกไปไกล ๆ คนจำนวนมากให้ความเคารพนับถือกับเงิน เชื่อกันว่าของยิ่งแพงคุณภาพยิ่งดี ประกอบกับแนวทางการฟังที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป

ผมต้องการให้เห็นภาพกว้าง ๆ ครับ ลำโพงทั้งหลายดูเหมือนจะไม่ได้พัฒนาไปเร็วนักทางด้านเทคนิค ไดรเวอร์ที่ใช้ทำลำโพงมีคุณภาพดีขึ้น วัสดุที่มาใช้ทำไดอะแฟรมของไดรเวอร์ทั้งหลายมีให้เลือกใช้กันมากขึ้น พลาสติคโพลีเมอร์รูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งประเภทเส้นใยไฟเบอร์ก็มีอีกหลายตัวเช่น คาร์บอนและเคฟล่าร์ แถมยังมีโฟม Rohacell ที่ใช้ทำใบพัดเฮลิคอปเตอร์ แล้วยังว่ากันไปถึงเซรามิคหรืออลูมินั่มออกไซด์ และ วัสดุสังเคราะห์ในรูปของเพชร

อย่างไรก็ตามกรวยกระดาษยังไม่ตกยุคได้รับการปรับปรุงไปจนเป็นของหรูราคาแพง ก็มี อย่างเช่น SEAS มีรุ่นสุดยอดในด้านราคาใช้กรวยเคลือบด้วย Nextel ดีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ Nelson Pass เอาไปใช้ในลำโพงรุ่น SR-1 ราคาสูงโด่งไม่แพ้ลำโพงไฮเอ็นด์อื่น ๆ เหมือนกัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือมีการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ประกอบกับการพัฒนาของแอมป์ อุปกรณ์อื่น ๆ และซอฟท์แวร์ ก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่หลาย ๆ อย่างก็เป็นเรื่องเก่าเอามาปรับปรุงใหม่ สิ่งที่เปลี่ยนไปอาจจะเป็นเรื่องของค่านิยม เราเห็นความแตกต่างชัด ๆ คือลำโพงไฮเอ็นด์ปัจจุบันนี้ดูจะออกไปทางเลิศหรูบูติคมากขึ้น ผิดจากลำโพงยุคก่อนมาก มีผู้ผลิตหน้าใหม่ ๆ เข้ามาหลายรายที่จากไปแล้วก็หลายราย

ต่อไปจะพัฒนาไปทางไหนอีกยังบอกไม่ได้ คงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคครับ หากว่านิยมฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือกันเป็นหลัก ในแนวนั้นลำโพงอาจจะต้องมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ หรืออาจจะมีสิ่งประดิษฐ์เป็นนวัตะกรรมที่แหวกแนวจริง ๆ สร้างเสียงด้วยวิธีการใหม่ ลำโพงอย่างที่ใช้กันทุกวันนี้อาจจะสูญพันธุ์ไปก็ได้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้นก็ใช้ลำโพงแบบปัจจุบันนี้ไปก่อน ผมคิดว่าผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาครับ หากต้องการลำโพงสวย ๆ หรู ๆ บริษัทผู้ผลิตเขาก็จะทำกันออกมา หากต้องการลำโพงที่เน้นทางคุณภาพเสียงก็คงจะพอมีผู้ผลิตเขาทำออกมาเช่นกัน