อ่านเอาเรื่อง LS3/5A ตำนานตัวน้อย ๆ

อ่านเอาเรื่อง LS3/5A ตำนานตัวน้อย ๆ

โดย นภดล บุญบันดาล นิตยสารสเตอริโอ

ข้อมูลของบทความนี้ทีแรกกะว่าจะใช้เนื้อหาหลัก ๆ จาก บทความของ Trevor Butler ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร HiFiNews ในปี 1990 ซึ่งก็เอาเนื้อหาสาระมาจาก รายงานของ BBC เสนอโดย H.D. Harwood/ M.E.Whatton และ R.W.Mills ในหัวข้อว่า The design of the miniature monitoring loudspeaker type LS3/5A ตามต่อเนื่องด้วยบทความจากนิตยสาร Stereophile ที่เขียนโดย J.Gordon Holt/ John Atkinson และคนอื่น ๆ อีก แล้วยังมีอีกนิดหน่อยจากนิตยสาร The Absolute Sound และแหล่งที่หาได้จากเว็บไซท์ต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งเพราะว่านี่เป็นเรื่องที่นักเล่นนักฟังจำนวนมากกล่าวถึงกัน มีทั้งความจริงและบางส่วนก็ว่าต่อ ๆ กันไปเรื่อย ฝรั่งก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันครับ ข้อมูลที่มีจึงต้องตรวจสอบพอสมควรก่อนหยิบมาให้ท่านอ่านกัน ป้องกันความคลาดเคลื่อน

Trevor Butler บอกว่าไม่มีลำโพงรุ่นใดในโลกนี้อีกแล้วที่จะถูกหยิบยกเอาเรื่องราวมาเล่ามาคุยกันอย่างได้อารมณ์เท่ากับลำโพงรุ่นนี้ มีทั้งเรื่องจริงและอิงนิยายอันเป็นปกติวิสัยของการเล่าต่อ ๆ กันไป

รหัสชื่อ

เรามาเริ่มต้นตรงที่มาของชื่อก่อนนะครับ BBC จะตั้งระหัสตัวย่อไว้สำหรับการออกแบบต่าง ๆ ไว้เป็นระบบดีเพราะมีการออกแบบอยู่มากมายต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เฉพาะตัวตู้หรือ cabinet เขาใช้ตัวย่อเป็น CT ส่วนตัวกรองความถี่/ตัดแบ่งสัญญาณและปรับแต่งการตอบสนองเรียกรวม ๆ เป็น FL ซึ่งมาจากคำว่า filter เมื่อเป็นลำโพงทั้งตัวโดยรวมหรือ loudspeaker เรียกว่า LS ตัวเลขที่ตามมาแสดงถึงรูปแบบการใช้งาน

LS1/ เป็นลำโพงประกอบสำเร็จสำหรับใช้งานทั่วไป
LS2/ เป็นตัวขับหรือไดรเวอร์ที่ไม่ได้ประกอบลงตู้
LS3/ เป็นลำโพงประกอบสำเร็จสำหรับใช้งานนอกห้องส่ง
LS4/ เป็นลำโพงสำหรับใช้ในสตูดิโอ
LS5/ กำหนดขึ้นมาภายหลัง รวมลำโพงที่ใช้นอกห้องส่งและลำโพงใช้ในสตูดิโอ ยกเลิกระหัส LS4/ ทั้งหมด และ LS3/ ที่จะเกิดขึ้นใหม่
ก่อนหน้าการตั้งระหัสแบบนี้มี LSU/ ตัวที่ใช้งานจริงคงเป็น LSU10

BBC มีลำโพงออกมาหลายรุ่น บางรุ่นก็ยกเลิกไปก่อนการใช้งานจริง รุ่นสำคัญ ๆ ได้แก่

LS3/1 ใช้วูฟเฟอร์ Plessey 15 นิ้ว กับทวีตเตอร์ GEC/Rola-Celestion HF1300 สองตัวติดไว้บนแผงตะแกรงข้างหน้าวูฟเฟอร์ มีแอมป์ที่ออกแบบมาให้ใช้ด้วยกัน LS3/1A เปลี่ยนวูฟเฟอร์เป็น Goodmans ต่อมาเปลี่ยนตัวแบ่งสัญญาณใหม่กลายเป็นรุ่น LS3/1B

LS3/4 ตัวตู้ขนาดกลาง ๆ ออกแบบมาให้ใช้เป็นมอนิเตอร์ในห้องส่งเคลื่อนที่สำหรับออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์ ‘สี’ ออกแบบตู้ให้ใช้วางเข้ามุม จะติดตั้งไว้มุมเพดานหรือผนังด้านข้างก็ได้ แผงหน้าจะหันเอียงมายังผู้ใช้ LS3/4 ใช้วูฟเฟอร์ Spendor 8 นิ้ว กรวยเบ็กซ์ทรีน กับทวีตเตอร์ GEC/Rola-Celestion HF1300 ต่อมาปรับปรุงเป็น LS3/4C ยังใช้วูฟเฟอร์ 8 นิ้วเบ็กซ์ทรีนอยู่แต่ทวีตเตอร์เปลี่ยนเป็น Audax HD13D34H มีข้อมูลว่ารุ่นนี้ยังมีใช้งานกันอยู่

LS3/5 และ LS3/5A มีรายละเอียดให้ท่านอ่านต่อไป ใจเย็น ๆ

LS3/6 ใช้ตัวขับเหมือนกับ LS3/4 ตู้ทรงปกติ สัดส่วนค่อนข้างแบน ออกแบบให้วางตั้งอิสระ ใช้ในความดังพอสมควรเมื่อต้องการคุณภาพเสียงที่ดีมาก ๆ สามารถฟังใกล้ได้มากกว่า LS5/5 ตอนหลัง Spendor ทำเป็นรุ่น BC I และ Rogers ก็มีออกมาคล้ายกัน มีซูเปอร์ทวีตเตอร์แถมมาด้วย

LS3/7 คล้าย LS3/6 ใช้สำหรับการฟังที่จำเป็นสำหรับระดับความดังค่อนข้างสูง เต็มที่ได้ถึง +104dBออกแบบมาใช้กับแอมป์ที่เตรียมมาให้โดยเฉพาะซึ่งดัดแปลงมาจาก Quad 303 วูฟเฟอร์เป็น Spendor 8 นิ้ว ทวีตเตอร์เป็น Audax 12X9D25 (ที่จริงทวีตเตอร์รุ่นนี้ผมคุ้นเคยมาก มันรับกำลังได้ค่อนข้างจำกัด วูฟเฟอร์ในยุคนั้นก็คงเช่นกัน แต่ด้วยการออกแบบให้เป็นลำโพงแอคตีฟ BBC จึงสามารถแก้ข้อจำกัดดังกล่าวได้)

LS5/1 และ 5/1A มาจาก LS3/1ใช้ตู้ใหญ่ขึ้นและทวีตเตอร์อยู่เหนือวูฟเฟอร์

LS5/2 และ 5/2A ดัดแปลง 5/1 ให้ใช้แขวนผนังได้ เอาไว้ใช้ในห้องส่งสัญญาณโทรทัศน์

LS5/5 ลำโพงใหญ่สำหรับสตูดิโอ ตัวตู้พ่นสีเทา วูฟเฟอร์ใช้กรวยเบ็กซ์ทรีน 12 นิ้ว มิดเรนจ์หรือช่วงเสียงกลางใช้ เบ็กซ์ทรีนขนาด 8 นิ้ว ด้านหน้าทำเป็น slot หรือมีแผงปิดเลยขอบกรวยเข้ามาแล้วมีช่องสี่เหลี่ยมให้เสียงออกมาตรงกลาง ทวีตเตอร์ใช้ Celestion HF1400 มีแอมป์ดัดแปลงจาก Quad50Dพร้อมด้วยปรีแอมป์ที่มีอีควอไลเซอร์ออกแบบมาใช้ด้วยกันโดยเฉพาะ

LS5/6 คือ LS5/5 ที่ใช้สำหรับห้องส่งสัญญาณโทรทัศน์

LS5/8 ลำโพงใหญ่ที่มาแทน LS5/1 และ LS5/5  ใช้วูฟเฟอร์ Rogers 12 นิ้ว กรวยโพลีพรอปพีลีน ทวีตเตอร์ Audax HD13D34H แอมป์ที่ดัดแปลงจาก Quad 405 พร้อมด้วยแบ่งสัญญาณแบบอิเลคโทรนิคส์กับอีควอไลเซอร์ ก็เป็นลำโพงแอคตีฟนั่นแหละครับ ลำโพงรุ่นนี้ส่วนมากผลิตจากRogers ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ BBC

LS5/9 ลำโพงขนาดกลางสำหรับสตูดิโอใช้ในเหตุการณ์ที่ LS5/8 นั้นใหญ่เกินไป ออกแบบมาให้มีเสียงคล้ายกัน ความดังสูงสุดเป็น +105dB Rogers เป็นผู้ผลิตให้ BBC ใช้วูฟเฟอร์ กรวยโพลีพรอปพีลีนขนาด 8 นิ้ว กับทวีตเตอร์ Audax HD13D34H

LS5/11 ออกแบบมาแทนLS3/4 แต่ให้มีเสียงคล้าย LS5/9

รุ่นใหม่ที่มาแทน LS3/5A คือ LS5/12 ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับความนิยมกันมากนักสำหรับวงการเครื่องเสียงทั่วไป

กำเนิดLS3/5A

มีเสียงเรียกร้องจากการใช้งานที่เกิดขึ้นในสนาม ตามสถานะการณ์ที่การมอนิเตอร์ด้วยเฮดโฟนนั้นยังไม่พอและไม่มีห้องที่ใหญ่พอสำหรับลำโพงมอนิเตอร์เต็มรูปแบบ ซึ่งเรียกว่ามอนิเตอร์ Grade I นับว่าเป็นลำโพงที่มีคุณภาพสูงให้เสียงได้ถูกต้องครบถ้วนมีช่วงความถี่กว้าง เบสลงได้ลึก เหมาะสำหรับใช้ในการปรับดุลย์ของน้ำเสียงและจัดตำแหน่งของไมโครโฟนให้ดีก่อนบันทึกหรือออกอากาศ ปัญหาคือมันมีขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ในห้องใหญ่ ตอนนั้นคงจะมี LS5/1 และ LS5/5อยู่ระหว่างพัฒนา ส่วนการออกอากาศนอกสถานที่สิ่งที่จำเป็นคือการตรวจสอบคุณภาพเสียงในระดับหนึ่ง ไม่มีเครื่องมือในการปรับดุลย์เสียงให้ละเอียดจริงจัง อาจตรวจสอบเรื่องตำแหน่งและความดังของไมโครโฟนได้บ้าง หากเอามอนิเตอร์ Grade I มาใช้ไม่ได้ เขาก็ต้องยอมใช้มอนิเตอร์ Grade II ที่มีขนาดเล็กลงมา ตอบสนองความถี่ได้ไม่กว้างนัก เบสลงไปไม่ลึกนัก แต่มีความกระทัดทัดพอที่จะใช้ในรถแวนเขื่อง ๆ ที่ใช้เป็นที่ควบคุมการออกอากาศในสนาม และที่จริงแล้วสถานีโมบายล์ยุคนั้นเป็นรถแวนคันไม่ใหญ่โตอะไรเลยครับ การใช้งานของลำโพงมอนิเตอร์สำหรับงานนี้จึงมักเป็นเพียงแค่ตรวจสอบเสียงพูดหรือบรรยายสอดแทรกในบางจังหวะและไม่ได้ใช้ในความดังระดับเดียวกับการมิกซ์เสียงตามปกติ

BBC มีลำโพงขนาดย่อม ๆ อยู่ก่อนแล้วสำหรับใช้ในสถานที่ต่าง ๆ นอกห้องส่ง LS3/1และ LS3/4 แต่เหมือนจะยังไม่เล็กพอที่จะอยู่ในรถแวน

H.D.Harwood บอกว่าไม่มีลำโพงที่มีขายกันในยุคนั้นที่ดีพอและเหมาะสมกับการใช้งานดังกล่าว พอดีที่ Research Department มีลำโพงต้นแบบที่กำลังอยู่ในการทดลอง ‘acoustic scaling’ หรือ ‘การย่อส่วนทางอคูสติค’ ลำโพงนั้นมีคุณภาพสูงเป็นพิเศษจนเขาเสนอต้นแบบออกมาให้ทดลองใช้กันในสนามเพื่อการประเมินผลในสถานที่ใช้งานจริง ตั้งชื่อเป็น LS3/5

การทดลองนั้นเกี่ยวกับการสร้างโมเดลจำลองย่อส่วนของการบันทึกเสียงจากการแสดงดนตรีเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับออกแบบห้องแสดงดนตรีแห่งใหม่ โดยใช้อัตราส่วนลดลงมาแปดเท่าตัวจากสภาพแวดล้อมในชีวิตจริง (Life-size Environment) เป็นความพยายามลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาเทคนิคปฏิบัติการของห่วงโซ่ครบวงจรตั้งแต่เครื่องเล่นเทป ลำโพง ไม่โครโฟนและตัวบันทึกเสียง อุปกรณ์ทั้งหลายที่ใช้จะมีคุณภาพสูงเต็มที่แต่สภาพทางอคูสติคย่อลงแปดเท่าตัว ความยาวคลื่นลดลงแปดเท่าตัว นั่นคือความถี่สูงขึ้นแปดเท่าตัว ลำโพงเล็กลงด้านขนาดแต่ต้องมีคุณภาพสูงพอสำหรับช่วงความถี่ 400 Hz ถึง20 kHz

ในระหว่างการทดลองดังกล่าวพบว่าลำโพงขนาดเล็กที่ใช้นั้นให้การตอบสนองความถี่ในแนวแกนที่ดีมากมีความเที่ยงตรงลงไปถึง 100 Hz มีคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยมตามโปรแกรมที่ป้อนเข้าไป นับได้ว่าเป็นการออกแบบที่พร้อมอยู่แล้วเมื่อมีความต้องการก็ผลิตออกมาใช้กันได้ทันที ในตอนแรกใช้สำหรับผู้ควบคุมการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์สำหรับสถานีเคลื่อนที่ นับว่าเป็นที่พอใจในการใช้งานกันอย่างมาก ลำโพงมอนิเตอร์รุ่นเล็กนี้ในตอนแรกก็ผลิตกันเองในหน่วยงานของ BBC แต่ต่อมามีความต้องการใช้งานในสตูดิโอด้วยก็ต้องผลิตออกมามากขึ้น ลำโพงที่ทำขึ้นในช่วงต่อมานี้พบว่าตัวขับทั้งด้านเสียงต่ำและเสียงสูงมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยผู้ผลิต ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบใหม่แต่ครั้งนี้ดำเนินการโดย Design Department ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น LS3/5A

แล้วหลังจากนั้นจึงมีการผลิตออกมาทั้งโดยหน่วยงานภายใน BBC เองและผู้ผลิตที่ได้รับลิขสิทธิ์ทำเป็นการค้า

ช่วงนี้จะเป็นเนื้อหาจากรายงานที่ Harwood และคณะ นำเสนอต่อ BBC

ลักษณะทั่วไป 

LS3/5A เป็นลำโพงเล็กมีมิติภายนอกเป็น 31X19X16 cm มีน้ำหนักประมาณ 5.3 kg อิมพีแดนซ์ของมันอยู่ราว ๆ 15 ohms และจะสามารถรับกำลังขับจากแอมป์ขนาด 50 watts สำหรับใช้กับสัญญาณทั่วไปแบบเสียงดนตรีหรือเสียงพูด จะให้ความดังสูงสุดราว ๆ +98dB วัดที่ระยะห่างออกมา 1.5 m มีreverberationn time 0.4 sec เทียบแรงดันอากาศที่ 2X10-5 N/m2 บอกกันละเอียดตามแบบของวิศวกร BBC ผู้แก่กล้าวิชา

ภายในตัวตู้มีปริมาณของอากาศน้อยกว่า 5 liters เป็นการออกแบบให้เป็นตู้ปิด สร้างขึ้นจากไม้อัด birch หนา 12 mm มีไม้ beech ที่รอยต่อ เป็นวัสดุที่ใช้กันทั่วไป เมื่อใช้ในการทำลำโพงต้นแบบของรุ่นนี้ซึ่งก็คือ LS3/5 นั้นไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด แต่ภายหลังพบว่าต้องระบุชนิดของไม้ให้ชัดเจนลงไป เนื่องด้วยมีการใช้ไม้ Parana Pine แทนที่จะเป็นไม้ beech อย่างเดิม ปรากฏว่ามีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเสียงย่านความถี่ต่ำอย่างรับไม่ได้ แม้ว่าไม้สนแพรานามีเนื้อแข็งกว่าแต่ไม่มีความสามารถในการสลายความสั่นสะเทือนได้อย่างไม้บีช ทำให้มีการปรับปรุงตู้กันอีกโดยผนังตู้ด้านข้างติดวัสดุประเภทแผ่นยางบิทูมินัสเข้าไปหนึ่งชั้น ผนังบนและล่างก็ใช้สองชั้น นอกจากนี้ยังใช้ประเก็นพีวีซีรองขอบของตัวขับเสียงต่ำเพื่อตัดแยกการส่งแรงมาที่แผงหน้า และเพื่อลดการสั่นสะเทือนอันเนื่องมาจากแรงอัดอากาศก็มีการบุตลอดพื้นที่ผิวภายในตู้ด้วยโฟมโพลียูรีเธนหนาประมาณ 25 mm หรือหนึ่งนิ้วที่ผนังด้านบนและด้านล่าง ส่วนผนังด้านข้างและด้านหลังใช้ขนาด 16 mm หรือ ¾ นิ้ว ผนึกรอยต่อให้สนิททั้งตู้เพื่อลดการรั่วของอากาศซึ่งอาจสร้างเสียงรบกวนพิเศษขึ้นมาเนื่องจากอากาศแรงดันสูงที่พุ่งผ่านช่องเล็ก ๆ ดังนั้นแม้รูสกรูก็ต้องทำให้อากาศผ่านไม่ได้

ตัวขับเสียง

ตัวขับความถี่ต่ำเป็น KEF แบบ B110 คัดเลือกมาโดยเฉพาะตามสเปคซิฟิเคชั่นของ BBC อิมพีแดนซ์โดยรวม ๆ จะเป็น 8 ohms มีความถี่เรสโซแนนซ์ตัวเปล่าในอากาศเท่ากับ 35 Hz มากหรือน้อยกว่านี้ด้วยความมั่นใจทางสถิติ 95% อยู่ในช่วง 33 และ 40 Hz

KEF B110 นับว่าเป็นตัวขับที่ล้ำยุคในช่วงนั้น ตัวโครงหรือแคสซีส์เป็นเหล็กปั๊มธรรมดาแต่ก็แข็งแรงและดูดี กรวยเป็นพลาสติคที่เรียกว่า Bextrene (ทีแรกตั้งชื่อเป็น Acoustilene) ซึ่งเป็นประเภทของPolystyrene เคลือบด้วยสารเหนียว ๆ เขาตั้งชื่อว่า Plastiflex ซึ่งเป็นสารประเภท PVA เพิ่มความแข็งแรงและยับยั้งการสั่นกระพือในตัวกรวย ก็เรียกได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้พลาสติคสำหรับลำโพงในช่วงแรก ๆ โพลีสทายรีนคือพลาสติคที่เราเห็นเขาใช้ทำกล่องใส่ซีดีนี่เอง อ่อนตัวเมื่อให้ความร้อนจึงขึ้นรูปได้โดยใช้แม่พิมพ์ที่อุณหภูมิร้อนพอสมควรกับการทำงาน มันจะคงรูปอยู่ตัวที่อุณหภูมิปกติ ตัวมันเองใสไม่มีสีเขาต้องใส่คาร์บอนเข้าไปให้มีสีดำและช่วยเพิ่มความแข็งแรงอุดความพรุนในเนื้อ ดัสท์แคปที่อยู่ตรงกลางกรวยเป็นผ้า มีการเคลือบให้อยู่ตัวมากขึ้น รวมแล้วกลายเป็นชื่อทางการค้าว่า Bextrene ที่จริงแล้วผู้ที่พัฒนาขึ้นมาคือ Bakelite ชื่อนี้เราอาจจะได้ยินคุ้นหูกันทั่วไป เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวพลาสติคมานาน

ก่อนหน้านั้นวัสดุที่เป็นกรวยลำโพงก็คือกระดาษ กรรมวิธียังไม่ดีนัก มีปัญหาเรื่องความแน่นอนของคุณภาพ อันเนื่องมาจาก การผสมเนื้อกระดาษและการเก็บความชื้นไว้ในตัว จึงมีความคิดที่จะพัฒนาวัสดุที่จะให้คุณภาพที่แน่นอนกว่า ทางเลือกหนึ่งก็คือพลาสติค ซึ่งก็มีหลายชนิดที่พัฒนาแข่งกันมา

ของใหม่ย่อมเป็นที่ตื่นเต้นมีการว่ากันว่ามีคุณสมบัติที่ดีกว่าหลายประการ Bextrene เป็นตัวที่สำเร็จออกมาก่อนพลาสติคอื่น ๆ ข้อดีที่บอกกันคือมันมีความแข็งแรงมากกว่ากระดาษ จึงให้มีการสั่นกระพือเป็นเสียงรบกวนน้อยกว่า ทำให้เสียงสะอาดชัดเจน แถมด้วยคุณภาพที่แน่นอนกว่ากระดาษมากมาย ในตอนนั้นนะครับก็ว่ากันไป

ผมว่าที่จริงแล้วเบกซ์ทรีนมีลักษณะเสียงเฉพาะตัว เสียงกลางย่านต่ำออกจะหนา แต่ว่า….นั่นเองที่เป็นเสน่ห์ของLS3/5A

ในช่วงเวลานั้น KEF และ BBC ใช้เบ็กซ์ทรีนเป็นกรวยลำโพงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่เบ็กซ์ทรีนไม่ได้เป็นที่นิยมอยู่นานนักเพราะมันค่อนข้างยุ่งยากในการเคลือบซึ่งต้องใช้มือผู้ชำนาญ เมื่อ H.D.Harwood จดทะเบียนสิทธิ์การนำ Polypropylene มาใช้ทำกรวยลำโพง ก็เป็นคู่แข่งสำคัญที่เบียดเบกซ์ทรีนออกไป เพราะโพลีพรอปพีลีนไม่จำเป็นนักที่จะต้องใช้สารเคลือบให้วุ่นวาย มันให้ความแข็งแรงพอใช้ และน้ำหนักเบากว่า จึงให้ความไวได้สูงกว่า มอนิเตอร์ของ BBC รุ่นหลัง ๆ ก็ใช้กรวยโพลีพรอปพีลีน ใคร ๆ ใช้กันแพร่หลายจนถึงวันนี้ แล้วกระดาษก็กลับมาครองความนิยมอีกด้วยวิธีการผลิตสมัยใหม่

การกำหนดให้ตัวขับขนาดเล็กอย่างนี้ทำงานลงมาถึง 35 Hz นี้ออกจะฝืนธรรมชาติเอาการ กรวยจะต้องโยนตัวเป็นช่วงยาว จนทำให้กระบอกวอซ์คอยล์กระแทกแผ่นปิดหลังแม่เหล็กได้ หากป้อนสัญญาณแรงเกินควร ท่านที่เคยใช้ LS3/5A คงจะเจอเหตุการณ์แบบนี้กันบ้าง ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตไม่ค่อยมีเจตนาที่จะทำตัวขับเสียงต่ำหรือวูฟเฟอร์ให้มีความถี่เรสโซแนนซ์ต่ำ ๆ อย่างแต่ก่อน ด้วยเทคนิคการบันทึกเสียงที่เน้นความแรงบวกกับการสังเคราะห์สัญญาณความถี่อื่น ๆ ประกอบเข้าไปกับการหน่วงเวลาโดยไม่ได้มีความถี่ต่ำจริง ๆ ก็สามารถทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเบสที่มีพลังแถมยังไม่ค่อยจะเป็นอันตรายกับลำโพง ผู้ฟังยุคนี้ก็เลยยิ่งไม่ค่อยมีโอกาสจะรู้จักเบสลึก ๆ ที่แท้จริงกัน

ตัวแบ่งสัญญาณและปรับแต่งเสียง

ตัวแบ่งสัญญาณหมายถึง cross-over network ครอสส์โอเวอร์เน็ทเวิร์ค อันนี้ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว ส่วนตัวปรับแต่งเสียงผมหมายถึง equalizer-อีควอไลเซอร์ ที่เขารวมไว้ด้วยกันทำงานร่วมกัน เพราะไม่มีตัวขับเสียงใด ๆ จะสามารถให้เสียงได้ราบเรียบโดยไม่ต้องมีการปรับชดเชยบ้างเลย

อิมพีแดนซ์

แต่ตอนหลัง ๆ เขาบอกกันว่า LS3/5A ในยุคนี้มีอิมพีแดนซ์ 15 ohms เป็นตัวเลขแสดงค่ากลาง ๆ ของอิมพีแดนซ์ เราเห็นได้ว่าค่าอิมพีแดนซ์นั้นแปรเปลี่ยนไปกับความถี่ วัดด้วยการป้อนสัญญาณความถี่เดียวที่กวาดไปค่าอิมพีแดนซ์ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ จะบอกว่ามีค่าเท่าไรแน่ก็ไม่ได้ชัดเจนนักหรอกครับ

ข้อคิดเห็น 

ลักษณะการตอบสนองความถี่ในแนวแกนของลำโพงรุ่นี้นับได้ว่าดีเป็นพิเศษสำหรับลำโพงขนาดเล็ก สังเกตุจากลักษณะการตอบสนองในช่วงความถี่ต่ำนั้นบอกได้ว่าค่อนข้างจะ “overdamped” นั่นคือการตอบสนองความถี่นั้นสามารถที่จะต่อออกไปได้อีกโดยลดความไวหรือการใช้แอมปลิฟายเออร์ที่มีอิมพีแดนซ์ประมาณ7 ohms และออกแบบวงจรอีควอไลเซอร์/แบ่งความถี่ใหม่สำหรับตัวขับเบส สิ่งที่จะต้องยอมสละไปสำหรับทั้งสองกรณีคือประสิทธิภาพจะลดลง การแผ่ของเสียงจะเห็นได้ว่าค่อนข้างกว้างในแง่ของมุมการกระจายและการแปรเปลี่ยนไปของความราบเรียบตามมุมที่เบี่ยงไป ผู้ฟังนอกแนวแกนจะยังคงได้รับเสียงที่มีคุณภาพดี

ตัวตู้ไม่ได้ให้การบิดเบือนต่อเสียงออกมามากนักและ non-linearity distortion ก็ต่ำตลอดช่วงกว้างของความถี่

สุดท้าย การประเมินจากการฟังจัดว่าอยู่ในขั้นเป็นที่ชื่นชอบ ความสามารถทางด้านสเตอริโอแสดงออกมาว่ายอดเยี่ยม ไม่พบว่ามีความคลาดเคลื่อนของอิมเมจ ตามข้อมูลที่ตีพิมพ์ (Harwood มีเอกสาร Stereophonic Image Sharpness ในวารสาร Wireless World, July 1968) อันนี้บ่งชี้ว่าลำโพงนี้สามารถใช้ดีพอ ๆ กันสำหรับระบบสี่ทิศทาง (quadraphony) และตามที่ใช้อยู่สำหรับการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้

บทสรุป

รายงานนี้ได้กล่าวถึงลำโพงที่ใช้ตัวขับสองตัว สมรรถนะสำหรับการใช้ทั้งแบบโมโนและสเตอริโอถือว่ายอดเยี่ยม และระดับความดังของเสียงพอเพียงสำหรับวัตถุประสงค์ต่าง ๆ มันได้ใช้งานในหลายภาระกิจนอกเหนือไปจากที่ได้ออกแบบไว้ และได้มีออกการให้ลิขสิทธิ์ให้ผู้ผลิตภายนอกเพื่อการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น

แปลให้อ่านแบบค่อนข้างจะทื่อ ๆ ตรง ๆ เพราะต้องการให้ได้บรรยากาศของรายงานที่ BBCเขาอ่านกันครับ แสดงให้เห็นว่า BBC จริงจังกับลำโพงรุ่นนี้มาก ซึ่งในยุคนั้นลำโพงเล็กทั้งหลายจะไม่ได้ถูกคาดหวังความเป็นเลิศขนาดนี้ ตอนนี้ผมมีเรื่องที่ค้างคาใจเกิดขึ้นมาที่ Harwood กล่าวถึงความแม่นยำของอิมเมจ วันไหนได้บทความต้นฉบับมาอ่านแล้วจะมาสาธยายต่อให้ท่านได้อ่านกัน

ผมมีข้อมูลจาก KEF ผู้ผลิตตัวไดรเวอร์ให้ BBC มาให้อ่านกันอีกหน่อย

LS3/5 ในช่วงเริ่มต้น

ชื่อลำโพงเป็นตามนั้นแหละครับ ไม่ได้ตกตัว A ไปเพราะว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาลำโพงสายพันธ์นี้ช่วงแรก ๆ

คงมีความเกี่ยวข้องอยู่บ้างที่ Raymond E. Cooke ผู้ก่อตั้งKEF นั้นเคยทำงานใน Engineering Design Department ของ BBC ตั้งแต่ต้น ๆ ของช่วง 1950s ก่อนที่จะได้รับตำแหน่ง Technical Director ที่ Wharfedale ได้ร่วมงานกับอัจฉริยะด้านลำโพงคนหนึ่งในยุคนั้นซึ่งคือ Gilbert Briggs ต่อมาเมื่อปี 1961 จึงก่อตั้ง KEF Electronics Ltd. เน้นอยู่กับลำโพงโดยเฉพาะ มีการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ มาแทนที่จะใช้กระดาษอย่างที่ใครใช้กัน KEF พยายามเอาวัสดุประเภทพลาสติคมาใช้งาน และเสริมความแข็งแรงด้วยอลูมินั่ม

สายสัมพันธ์ระหว่าง KEF และ BBC มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของผู้จัดส่งไดรเวอร์ให้ BBC และแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้นคว้าวิจัยสนับสนุนกันในการใช้พลาสติคมาแทนกระดาษสำหรับกรวยของไดรเวอร์ เนื่องด้วยมีเครื่องมือที่หลากหลายครบครันจนเหลือเฟือช่างเทคนิคของ BBC เองก็สามารถทำตัวขับเสียงต้นแบบขึ้นได้ในโรงปฏิบัติการ นอกจากนั้น BBC ยังว่าจ้างให้ KEF ผลิตลำโพงมอนิเตอร์มาเสมอตั้งแต่ LS5/1 LS5/2 LS3/4 และLS5/5ซึ่งเป็นลำโพงสามทางใช้กรวยเบ็กซ์ทรีน

จุดสำคัญอยู่ที่ในปี 1968 ที่ BBC มีการศึกษาทำโมเดลจำลองสำหรับสตูดิโอแห่งใหม่ใน Manchester ย่อทุกอย่างลงเป็นหนึ่งในแปดเท่า และเกิดความต้องการลำโพงขนาดเล็กสองทางที่จะให้เสียง 400 Hz-100 kHz ตั้งเป้าไว้ยากเหลือเกิน ในส่วนของตัวขับเสียงเบสอยากให้ได้ตัวที่สามารถทำงานไปได้ถึง 15 kHz ที่จริงแล้วเขาก็รู้อยู่ว่า B110 ใช้งานขึ้นไปถึง 5 kHz ก็เต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ผู้ออกแบบพยายามใช้ตัวขับขนาดกรวยเบ็กซ์ทรีนขนาด 110 mm สองตัวจัดให้ทำมุม 60 องศาระหว่างกันเพื่อให้มีมุมกระจายเสียงกว้างที่สุด มีการดัดแปลงตัวกรวยบริเวณใจกลางติดแผ่นพีวีซีไว้ชิดกับดัสท์แคป สำหรับความถี่ที่สูงกว่า 15 kHz เขาใช้แผงอิเลคโทรสแตติคขนาดเล็กเป็นรูปกึ่งทรงกลม

ตัวต้นแบบนี้ทำงานได้ไม่ถึงระดับที่ต้องการ ทีมงานจึงหันมาออกแบบใหม่เป็นลำโพงสามทาง ใช้ตัวขับเบส 110 mm ตัวเดียวหันหน้าตรงกับทวีตเตอร์ T27 ตัดแบ่งสัญญาณที่3kHz ให้ทำงานไปถึง 15 kHz และปล่อยให้แผงอิเลคโทรสแตติคทำงานต่อ

ปรากฏว่าการออกแบบนี้ทำงานได้ดีมาก ให้คุณภาพเสียงในระดับที่สามารถใช้เป็นมอนิเตอร์ได้เลยโดยเฉพาะในกรณีที่มีบริเวณจำกัด การพัฒนาต่อมาหลังจากนั้นก็คือลำโพงขนาด 5 liters ให้ชื่อรุ่นเป็น LS3/5 ใช้ KEF B110(A6362) กับ T27(A6340) และตัวแบ่งความถี่ FL6/16 อิมพีแดนซ์โดยรวมเป็น 9 ohms ในตอนนั้นเขาจัดเรียงตัวขับในแบบกลับหัวเอาทวีตเตอร์ไว้ต่ำกว่าวูฟเฟอร์ มีการผลิตขึ้นมาชุดหนึ่งประมาณยี่สิบคู่แจกเอาไปใช้งานในสนามเพื่อเป็นการทดสอบในสถานที่จริง แล้วเกิดเสียงตอบรับให้ผลิตกันในจำนวนที่มากขึ้น

พอเริ่มแผนที่จะผลิต LS3/5 ขึ้นมาก็พบว่าตัวขับที่เคยใช้เดิมนั้นไม่มีแล้ว รุ่นที่ KEF ทำออกมาเป็น B110 (SP1003) และ T27 (SP1032) ใช้ในลำโพงสำเร็จที่ทำขายอยู่ซึ่งก็คือ Coda และ Cresta ตัวขับใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงไปมีการปรับปรุงไปในรายละเอียดเล็กน้อย ๆ ด้วยเจตนาที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นและวัตถุดิบที่มีขาย ก็เป็นธรรมดาครับเรื่องแบบนี้ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ได้มีให้ใช้กันได้ตลอดไป มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปกับอุตสาหกรรมหลัก พวกเครื่องเสียงนี้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้วก็ย่อมทำให้เสียงเปลี่ยนไปด้วย ทีมวิศวกรของ BBC จึงต้องออกแบบกันใหม่โดยใช้ตัวขับใหม่ตามความจำเป็น ผลที่ได้เป็น LS3/5A ออกมาในช่วงฤดูร้อนของปี 1974 ดูไปแล้วก็ใช้เวลานานเหมือนกันนะครับ

LS3/5A นี้เป็นรุ่นที่ประกาศตัวเต็มที่ และปล่อยลิขสิทธิ์ให้บรรดาผู้ผลิตภายนอกทำกัน ส่วนหนึ่งผลิตให้ BBC ใช้เอง และอีกส่วนหนึ่งขายทั่วไป รายที่รู้จักกันดีที่สุดคือ Rogers Development (ภายใต้การบริหารของ Swisstone ที่ได้ซื้อกิจการไป) เริ่มผลิตในปี 1975 จนมาถึงช่วงปี 1987 ทาง BBC ต้องยอมรับความจริงว่า LS3/5A มีปัญหาแล้ว คือมีลักษณะเสียงเปลี่ยนไปไม่ตรงตามมาตรฐานและมีคุณภาพไม่แน่นอน

BBC แก้ปัญหาที่ต้นทางด้วยการเจรจากับ KEF ให้แก้ไขเนื่องด้วยพบว่าผู้ได้รับลิขสิทธิ์หลายรายบ่นกันว่าตัวขับเบสหรือวูฟเฟอร์มีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนไป มีคุณภาพไม่แน่นอน KEF ตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจขึ้นมา Special Products Division จุดมุ่งหมายคือแก้ไขให้ LS3/5A มีเสียงเหมือนต้นฉบับเดิม ๆ KEFปรับปรับไดรเวอร์ขึ้นเป็นรุ่น B110C SP1228 ขอบกรวยที่เดิมเป็นยาง Neoprene เด้ง ๆ เปลี่ยนเป็นพีวีซีหนืด ๆ และพร้อมกันนั้นก็แก้ไขตัวแบ่งสัญญาณควบคู่กันไปเป็นรุ่น SP2128 ยิ่งกว่านั้นยังใช้คอมพิวเตอร์วัดคุณลักษณะทางเสียงของไดรเวอร์จับคู่แล้วจัดตัวแบ่งสัญญาณที่เข้ากับมันพอดี ขายควบกันไปเสร็จสรรพให้บรรดาผู้ได้รับลิขสิทธ์นำไปผลิตต่อ ในปี 1991 ก็จัดรูปแบบให้ใช้งานได้แบบไบวายร์ออกมา BBC ก็รับรองให้

เบ็ดเสร็จแล้ว Rogers ผลิตลำโพงรุ่นนี้ออกมาไม่ต่ำกว่า 20,000 คู่ ตั้งแต่ 1975 ถึง 1993

ช่วงเวลาที่ผ่านมา

เรื่องราวเกี่ยวกับ LS3/5A นั้นมีช่วงเวลาที่ยาวนาน มีข้อมูลที่ผู้รู้เขาสรุปเอาไว้ ผมคว้าเอามาแปลให้ท่านอ่านกัน เติมข้อมูลที่ทันสมัยขึ้นเข้าไปอีกหน่อย

•  กุมภาพันธ์ 1974 Jim Rogers เริ่มด้วยการแถฃงข่าวให้กับสื่อต่าง ๆ และแจกโบรชัวร์ LS3/5 แต่มีการเปลี่ยนแปลง BBC ออกแบบใหม่เป็น LS3/5A
•  1975 Michael O’Brien(Chairman) และ Brian Pook(MD) ซื้อกิจการ Rogers ให้บริษัท Swisstone เป็นเจ้าของ ขายผลิตภัณฑ์ในชื่อเดิม และรักษาลิขสิทธิ์การผลิต LS3/5Aไว้แล้วเริ่มการผลิต
•  1975 Audiomaster ตั้งขึ้นภายใต้บริษัทแม่ KJ Leisuresound โดยมี Robin Marshall เป็น MD
•  เมษายน 1976 Audiomaster เริ่มผลิต LS3/5A
•  ตุลาคม 1976 BBC เปิดเผยรายงานการออกแบบ LS3/5A
•  1977 Dave Stebbings ซึ่งเคยเป็นพนักงานของ BBC ที่ Kingswood Warren ได้ก่อตั้งChartwell Electro Acoustics
•  1977 Dudley Harwood ได้เริ่มบริษัท Harbeth ได้รับลิขสิทธิ์มาแล้วแต่ยังไม่เริ่มผลิต LS3/5A
•  1978 Chartwell หยุดขาย มีหนี้สินจากธุรกิจอื่น หุ้นส่วนต้องมาจ่ายแทน
•  1978 Rogers (ที่จริงต้องเป็น Swisstone เพราะRogers เป็นชื่อทางการค้าเท่านั้นไม่ใช่บริษัท) ซื้อ Chartwell
•  1978 Rogers ประกาศตัว Reference Monitor System
•  1979 Rogers ประกาศว่าผลิต LS3/5A ออกมาได้ 10,000 คู่แล้ว
•  1981 Audiomaster หยุดกิจการ
•  1981 ชุดประกอบเอง CS1 จาก KEF ออกขาย
•  มกราคม 1982 Falcon Acoustics ยื่นขอรับลิขสิทธิ์ แต่ไม่สำเร็จ ลิขสิมธิ์เป็นของ Goodmans
•  1982 Spendor ผลิต LS3/5A
•  1980s Falcon Acoustics ทำตัวแบ่งสัญญาณให้ Goodmans และ RAM
•  1983 RAM หยุดกิจการ (อาจจะผลิตได้ไม่กี่คู่)
•  มกราคม 1984 Goodmans ประกาศว่าได้รับลิขสิทธ์ในการผลิต LS3/5A จาก BBC ให้การรับประกันห้าปี ราคา 194 ปอนด์ต่อคู่
•  1984 Dick Olsher ที่ stereophile รีวิว Spendor
•  ตุลาคม 1986 Alan Shaw ซื้อ Harbeth จาก Dudley Harwood
•  1987 BBC แจ้งขอให้ KEF ออกแบบ B110 ใหม่ กลายเป็นการออกแบบระบบทั้งหมด
•  1988 KEF ออกแบบใหม่เป็นรุ่น 11ohms ใช้ T27 (SP1032) และ B110 (SP1228) พร้อมด้วยวงจรแบ่งสัญญาณใหม่
•  1988 Harbeth มีรุ่น 11ohms ออกมา
•  1989 John Atkinson บ.ก. Stereophile รีวิว Rogers
•  1990 Rogers ประกาศว่าขายได้แล้ว 33,544 คู่
•  1990 BBC รับรอง bi-wiring ด้วยการใช้ตัวแบ่งสัญญาณ SP2195 (เป็นระหัสของ KEF ครับ)
•  1991 Richard Ross ของ Rogers เสียชีวิตด้วยอายุ 41 ปี
•  1992 Kinergetic Holding เข้ามาดำเนินกิจการของ KEF มีข่าวว่าจะหยุดผลิตไดรเวอร์
•  1993 Rogers หยุดผลิต
•  1993 Rogers ถูก Wo Kee Hong group ซื้อกิจการ
•  1993 KEF ผลิต LS3/5A ออกมาด้วย
•  1995 Rogers ประกาศตัว AB1 bass Extender ออกแบบโดย Andy Whittle
•  1999 Spendor หยุดผลิต LS3/5A
•  เริ่ม 2000 ไม่มี B110 จาก KEF อีกต่อไป
•  2001 Stirling Broadcast ผลิต LS3/5A 11ohms ใช้ชิ้นส่วนเก่าที่เหมามาจาก Rogers
•  2002 Richard Allan ผลิต LS3/5A 11ohms ท่าทางจะผลิต B110 เอง
•  2005 Stirling Broadcast ผลิต LS3/5A V2 ใช้ไดรเวอร์ใหม่ไม่เหมือนเดิม
•  2008 Rogers ผลิต LS3/5A ออกมาใหม่ ใช้ไดรเวอร์ใหม่

ผู้สืบทอดและลูกหลาน…ห่าง ๆ 

เจ้าตัวน้อยนั้นออกแบบมานานแล้วและไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมเพราะไม่มีส่วนประกอบ (คล้าย ๆ กับสัตว์ที่สูญพันธ์ไปอย่างเนื้อสมันของไทย) BBC จึงต้องมีการหาผู้สืบสันดานหรือตัวตายตัวแทน แล้วก็ออกมาเป็น LS5/12A ตัวตู้มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่คราวนี้ทางสำนัก BBC ไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่พัฒนาตัวขับขึ้นเองอย่างแต่ก่อน เขาเลือกใช้วูฟเฟอร์และทวีตเตอร์จาก Dynaudio ออกแบบเป็นระบบตู้เปิด หันท่อไปด้านหลัง วงจรแบ่งสัญญาณและปรับแต่งลักษณะเสียงยังซับซ้อนอยู่ ด้วยเจตนาให้มันมีดุลย์ของเสียงคล้ายรุ่นเดิม เป็นผลให้ความไวค่อนข้างต่ำ ออกมาได้เพียง 81dB/watt ที่ 1 meter ต่ำกว่า LS3/5A เล็กน้อยแต่ต่ำกว่าลำโพงทั้งหลายในยุคเดียวกันค่อนข้างมาก Harbeth และ Dynaudio รับลิขสิทธิ์ผลิตออกมาจำนวนหนึ่ง

พวกลูกหลานที่ออกมาอ้างถึงชื่อและรูปลักษณ์ของเจ้าคุณปู่มีอีกมากครับ ใคร ๆ ที่พอจะทำลำโพงได้ก็อยากทำบ้างทั้งนั้นแหละ ผมเองก็ด้วย ไม่บอกละว่าพยายามทำอะไรออกมาบ้าง อายครับ

ผมรู้สึกแปลกใจที่ใครต่อใครเขาใช้ชื่อ LS3/5Aกันได้สบายทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยจะเหมือนเดิม ยกเว้นรูปลักษณ์ภายนอก หรือว่าลิขสิทธิ์ไม่มีผลแล้วหมดอายุไปแล้ว

มีการออกแบบซับวูฟเฟอร์มาให้ใช้กับ LS3/5A ที่มาจาก Rogers เองก็คือ AB1 เขาว่ามันออกแบบมาเพื่อกันและเข้ากันได้ดี เท่าที่ผมเคยฟังมา เรื่องเข้ากันดีนั้นยอมรับครับ แต่ดูเหมือนมันช่วยเจ้าตัวเล็กได้ไม่มากนัก เนื่องด้วยไดรเวอร์ที่ใช้ก็มีขนาดเดียวกันข้อจำกัดก็ยังมีอยู่พอ ๆ กัน

บทส่งท้าย

นอกจากในอังกฤษแล้ว LS3/5A ยังนิยมเป็นของสะสมของนักเล่นในเอเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ฮ่องกงก็มี แต่ออกจะกลัว ๆ กันว่ามีของเทียมปนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายผ่าน eBay หากท่านอยากได้จริงก็ควรไปดูให้เห็นตัวจริงดีกว่า

เนื่องจากลำโพงรุ่นนี้ออกแบบมานานกว่าสามสิบปีแล้วจึงค่อนข้างบอบบาง มีตัวที่ชำรุดค่อนข้างมาก ซ่อมกันมาแล้วหลายรอบก็มี ต้องระวังให้ดีครับ นอกจากสภาพความเรียบร้อยภายนอกแล้ว ก่อนซื้อควรลองกดกรวยลำโพงลงไปเบา ๆ นะครับ ดูว่าวอยซ์คอยล์เบียดขั้วแม่เหล็กหรือเปล่า ถ้ารู้สึกสะดุด ๆ ก็นั่นแหละควรหลีกเลี่ยง

ซื้อมาแล้วอยากจะปรับปรุงก็ทำได้โดยติดขั้วรับสายใหม่ ของเดิมเป็นแบบสปริงคุณภาพไม่ดี จะทำใหม่ใช้แบบไหนก็แล้วแต่ชอบ ทำตัวแบ่งสัญญาณขึ้นมาใหม่แทนของเดิม ใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้นแต่ค่าต่าง ๆ ใช้เหมือนเดิม เก็บแผงของเดิมไว้ก็ได้ บางคนเอาแผงนี้ไว้นอกตู้แล้วสลับใช้ของเก่ากับของใหม่ได้ แต่บางท่านก็ไม่อยากจะไปยุ่งอะไรกับมันเลยอยากคงสภาพเดิมไว้อย่างนั้น ก็แล้วแต่ใจของท่านเอง ปัญหาจริง ๆ คือหากจะใช้ฟังเพลงท่านจะพบว่าเสียงมันจะแห้งเต็มไปด้วยสากเสี้ยน ทั้งนี้ก็เพราะคะแปซิเตอร์เดิมเสื่อมเนื่องด้วยเป็นแบบใช้สารละลายอิเลคโทรไลท์ นาน ๆ ไปก็เสื่อมและแห้งไป ผมว่าหากจะเอามาฟังเพลงก็ไม่มีทางเลือก ต้องเปลี่ยนคะแปซิเตอร์แน่นอน นาน ๆ ผมถึงจะฟันธงสักทีนะครับ

อย่าลืมว่า LS3/5A เป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้ฟังใกล้ ๆ หรือ Near-Field ท่านก็ต้องจัดให้เหมาะสม เขาแนะนำว่าให้ลองวางห่างกันประมาณสองเมตร ตำแหน่งนั่งฟังอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างลำโพงห่างแต่ละข้างสองเมตร กลายเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า การออกแบบนั้นไม่ได้ทำมาสำหรับให้ใช้แบบหันเข้าด้านใน(toe-in) มากนัก เพราะฉะนั้นหมุนหันเข้ามานิดหน่อยก็พอ ขาตั้งที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นเขาแนะนำให้ใช้ความสูง 24-26 นิ้ว หากใช้กับซับวูฟเฟอร์ AB1 ก็ยังแนะนำให้วางแยกกัน ไม่ควรจะซ้อนกัน แอมป์นั้นใช้ตัวที่มีกำลังพอกลาง ๆ 25 วัตต์ขึ้นไป เลือกรุ่นที่ลักษณะเสียงไปในทางเดียวกับมันนั่นแหละ เบสออกทางนุ่ม ไม่ต้องเฉียบขาดนักก็ได้ มีแหลมพอประมาณไม่ต้องจะแจ้งนัก จะได้ไม่ขัดกันบังคับกัน หลายคนบอกว่ามันเหมาะกับแอมป์หลอด แต่แอมป์โซลิดสเตทที่ออกทางนุ่มสักหน่อยขนาดกลาง ๆ ก็น่าจะใช้ได้ครับ

สงสัยว่าที่จริงแล้วในยุคนี้ LS3/5A จะเป็นลำโพงตำนานที่มีไว้เก็บสะสมเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ฟังกันจริงจัง ฟังแค่ให้รู้ว่ายังทำงานได้เท่านั้น จึงมีลำโพงรุ่นใหม่ที่ออกแบบมาด้วยเจตนาจะเป็นตัวแทนของ LS3/5A เยอะแยะ ทำมาให้มีดุลย์เสียงในแนว BBC ก้นโด่งกลางยุบอะไรทำนองนี้ แต่เล่นได้ดังกว่า ไดนามิคดีกว่า ไม่มีอาการเสียงขึ้นจมูก โดยรวม ๆสะอาดกว่า ลำโพงพวกนี้มีออกมาเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ท่านหาได้แน่นอน แม้ว่านักฟังนักวิจารณ์จะให้การตอบรับที่ดีเสมอมาหลายรุ่น มักบอกว่าเป็น LS3/5A ที่พัฒนาแล้ว ดีขึ้นกว่าของเดิม ความจริงก็คงเป็นอย่างที่เขาบอกนั่นแหละ เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าในยุคนี้การทำลำโพงให้ดีกว่า LS3/5A ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งไดรเวอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆปัจจุบันหาของที่ดีกว่าที่ใช้กันมาสมัยโน้นได้อยู่แล้ว วิทยาการออกแบบก็พัฒนาไปมาก แต่เท่าที่ผ่านมาพวกนี้ก็จะอยู่ได้สักพักหนึ่งเท่านั้นละครับ ในระยะยาวผมยังไม่เห็นว่าพวกตัวแทนทั้งหลายจะยืนระยะได้สักตัว กำลังดูอยู่ว่าจะมีตัวไหนที่พิศูจน์ตัวเองได้ แต่ระหว่างนี้ตำนานก็ยังอยู่ของมันอย่างนั้น

ปัจฉิมลิขิต

ขออนุญาตออกความเห็นส่วนตัวแท้ ๆ ของผมอีกที อาจจะไม่ตรงกับเซียนหรือผู้รู้ทั้งหลาย

ความสามารถทางการให้อิมเมจและซาวนด์สเตจอยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น สำหรับมาตรฐานปัจจุบัน

LS3/5A เป็นตำนานได้ไม่ใช่เพราะว่ามันใสสะอาดปราศจากการแต่งแต้มสีสัน แต่เป็นเพราะสีสันของมันนั่นแหละที่ติดใจติดหูผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำเนินรายการวิทยุและทีวี มันทำให้เสียงผู้ชายออกไปทางทุ้มหล่อ มันทำให้เสียงผู้หญิงมีแนวดัดจริตนิด ๆ กำลังน่ารัก มันทำให้เสียงเครื่องเคาะส่งประกายแวววาว มันทำให้เสียงเครื่องสายแนวเบสมีความนุ่มหนาอุ้มเสียงอื่น ๆ ไว้

คล้ายกับนักร้องที่คนนิยมมักจะมีเสียงในแนวเฉพาะตัว เหน่อนิด ๆ หรือจี๊ดจ๊าดหน่อย ๆ

บางคนบอกว่าอัจฉริยะกับคนที่ถือว่าเป็นวิกลจริตนั้นต่างกันนี๊ด..เดียว เพียงเส้นผมแค่นั้นเอง

สีสันที่มันแต่งเติมเข้าไปอาจจะอยู่พอดีกับขอบเขตแล้ว มากอีกนิดเดียวนักเล่นนักฟังก็จะรับไม่ได้ ขอบเขตของสีสันจะต่างกันได้สำหรับแต่ละคน ดังนั้นจึงเป็นความจริงว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะรักมัน

ที่สำคัญคือหากคิดจะรักมันต้องยอมรับอย่างที่มันเป็น อย่าฝืนให้มันทำสิ่งที่มันไม่ถนัด นอกจากจะระวังในเรื่องเบสสักหน่อย แล้วก็อย่าไปคิดว่ามันจะให้ความจริงนัก ให้มันเป็นอย่างที่มันเป็นนั้นเถิด

บทความนี้มันจบยากเสียจริง ๆ คงเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องของตำนานนี่เอง ผมจึงตำ ๆๆๆ นานๆๆๆ จนเมื่อยไปหมดแล้ว ตอนหลังนี้ขนาดว่ารวบ ๆ ให้จบก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรให้ตำอีก ไม่ยอมแหลกสักที แต่ไม่ไหวแล้วครับ ขออนุญาตจบแค่นี้แหละ